วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

จากหนังสือรวมเรื่องสั้น “ข้าวแค้น” ของ
วัฒน์ วรรลยางกูร
ฉบับตีพิมพ์เมื่อ พฤษภาคม ๒๕๒๒ โดย กลุ่มกุลา

คำนำ
            ในปี ๒๕๑๙ บรรณโลกของกรุงเทพมหานครได้มีโอกาสจัดพิมพ์ “ตำบลช่อมะกอก” ของวัฒน์ วรรยางค์กูร  นิยายเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้เขียนนามนี้  ได้เป็นที่สนใจและได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านอย่างกว้างขวางและคึกคักอย่างยิ่ง  แม้ว่า  ในคำปรารภของผู้เขียนเองได้กล่าวไว้ว่า  งานเขียนขนาดยาวนี้เป็นเรื่องแรกและยังเต็มไปด้วยข้อบกพร่องก็ตาม  แต่ในทัศนะของผู้เขียนรุ่นก่อนๆ ก็ได้ให้ความสนใจและเอ็นดูต่อนักเขียนผู้เยาว์ผู้นี้อย่างมาก  วัฒน์ วรรยางค์กูร มีท่วงทำนองการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง  คือการใช้ภาษาที่ง่ายๆ และก็ชวนติดตามอย่างเร่งเร้าเสมอ  รวมทั้งเสนอเรื่องราวที่สัมผัสแนบแน่นกับชีวิตการต่อสู้  และขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีของประชาชน
                อนาคตของวัฒน์ทางด้านวรรณกรรรมจะแล่นโลดไปไกลอีกมากทีเดียว  เสียดายอย่างยิ่งที่เขาได้เขียนเรื่องไว้ไม่มากนักในระยะ ๑-๒ ปีก่อนกรณีสังหารโหด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  สังคมอันอัปลักษณ์เช่นนี้  ไม่ได้เป็นเวทีชีวิตที่เขาสามารถร่ายหรือกลั่นกรองเอาความรู้สึกและข้อมูลออกมาเป็นวรรณกรรมอย่างสะดวกและยืนยาว  วัฒน์จึงได้ตัดสินใจละทิ้งเวทีนี้ไปสู่ผืนแผ่นดินไทยที่ไกลออกไป  และที่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแก่เขาในการจะรจนาวรรณกรรมเพื่อประชาชนต่อไป  แต่เขากลับได้รับความอบอุ่นและโอบอุ้มจากชีวิตความเป็นจริงที่ทุกข์ยากและเต็มไปด้วยภาพของการต่อสู้กับธรรมชาติและกับคนด้วยกันเองที่เหยียดหยามคุณค่าความเป็นคน  ดังนั้นเราจึงยังได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของเขาอีก
                เราได้รวบรวมงานเขียนของวัฒน์  ซึ่งปรากฏหลังจากที่เขาได้ตัดสินใจไปใช้ชีวิตอีกแห่งหนึ่ง  งานเขียนที่เราได้รวบรวมขึ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ  เป็นงานเขียนประเภทเรื่องสั้น ๑๑ เรื่อง  และการบันทึกเกี่ยวกับทัศนะของผู้เขียนในเรื่องการประพันธ์  เรื่องสั้นทั้ง ๑๑ เรื่องนี้  แต่ละเรื่องจะสะท้อนแง่มุมที่ต่างกันออกไปทุกเรื่องและชัดเจนในเนื้อหามากขึ้นกว่าแต่ก่อน  แต่ยังคงรัก(ษาเอกลักษณ์ของตนเองในการเสนอปัญหาและใช้ภาษาที่ง่ายๆ และเร้าใจผู้อ่านเช่นเดิม
                เราไม่มีอะไรจะกล่าวมากมายนัก  เพราะว่าต้องการให้ผู้อ่านลิ้มรสวรรณกรรมเรื่องสั้นที่ดีเด่นของวัฒน์โดยเร็วที่สุด  แต่กระนั้น  งานวรรณกรรมก็ยังคงเป็นแนวรบด้านหนึ่งของการต่อสู้เพื่อสิ่งใหม่ที่งดงามกว่าและมีคุณค่ายิ่งกว่า   และแนวรบด้านนี้ก็ไดมีคนมาแบกรับมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นศรีบูรพา, บรรจง บรรเจิดศิลป์, อิศรา อมันตกุลหรือจิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ  และแนวรบนี้ก็ได้เสียดแทงตีความเจ็บปวดแก่ผู้ปกครองที่เอาเปรียบคนจนอย่างได้ผลมาแล้ว  วันนี้เราได้พบกับวัฒน์ วรรยางค์กูร นักเขียนหนุ่มที่มีความศรัทธาและความสามารถที่ดีเด่น  แต่เราก็ปรารถนาจะได้พบบุคคลเช่นวัฒน์อีกหลายๆ คน  จากผู้อ่านนี่แหละ  ท่านล่ะได้ตัดสินใจจะมาเข้าร่วมกับบันทึกประวัติศาสตร์บทใหม่แก่คนไทยแล้วหรือยัง?
                                                                                                                                                          ด้วยความคารวะจากเรา
                                                                                                                                                          กลุ่มกุลา

ภาคผนวก

 จากบันทึกของ “นักเขียนคนหนึ่ง”
หมายเหตุ : บันทึกชิ้นนี้ประกอบด้วยทัศนะของผู้เขียนในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการทำงานเขียน  นับตั้งแต่ปัญหาทำงานเพื่อใคร, การหาวัตถุดิบ, เข็มทิศชี้นำในการเขียน, ปัญหารูปแบบกับเนื้อหา, การเตรียมพร้อมในการทำงาน, การใช้ชีวิตของนักเขียน และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านกับคนเขียน  อันเป็นทัศนะอีกแง่หนึ่งของคนเขียนหนังสือร่วมสมัยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการค้นคว้าทางด้านวรรณกรรม

ปัญหาพื้นฐานคือทำงานเพื่อใคร

                นักทฤษฎีทางศิลปะวรรณคดีหลายคนสรุปไว้ว่าปัญหาสำคัญที่สุดของศิลปินนักเขียนคือ ปัญหาเพื่อใคร? ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง  และเห็นด้วยอย่างยิ่งต้อความเห็นที่ว่านักเขียนหรือศิลปินควรมีสำนึกว่าตนเองทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน  ดังที่ศรีนาครเขียนไว้ว่า  “ศิลปะทั้งผองต้องเกื้อเพื่อชีวิต   ของมวลมิตรผู้ใช้แรงงานทุกแห่งหน  ใช่เพื่อศิลปะอย่างที่นับสัปดน  ใช้เพื่อตนศิลปินชีวินเดียว”  ในสภาวะที่เป็นจริงของสังคมไทยเบื้องหน้านี้คือ  รับใช้กรรมกรชาวนาอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศในการต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีด  รับใช้ประชาชาติไทยในการต่อสู้กับอิทธิพลของมหาอำนาจผู้รุกราน  รับใช้ผู้รักสิทธิเสรีภาพในการต่อสู้คัดค้านเผด็จการฟัสซิสต์  จิตสำนึกเช่นนี้เกิดขึ้นได้ท่ามกลางการต่อสู้ที่เป็นจริง
                แน่นอนว่า  ย่อมแตกต่างจากเป้าหมายของการทำงานอีกแบบหนึ่งคือ  ๑. เกียรติ  สร้างผลงานเพียงเพื่อใช้งานเป็นบันไดก้าวไปสู่เกียรติยศที่คับแคบเฉพาะตน  หรือ ๒. เพื่อเงินตรา  ยอมให้อำนาจเงินกำหนดความคิดทุกสิ่งทุกอย่าง
                ทุกวันนี้มีนักเขียนไม่ว่าจะเป็นรุ่นอาวุโสหรือรุ่นใหม่ๆ ได้มองเห็นและเข้าใจได้ว่า  นักเขียนจะต้องทอดตัวเข้าไปสร้างผลงานรับใช้ประชาชน
                เราจะมามัวคิดถึงประโยชน์ส่วนตนอยู่ได้อย่างไร  ในเมื่อกรรมกรชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศกำลังอดอยากปากหมอง  ทุกข์ยากแสนสาหัส
                เราจะมามัวคิดถึงประโยชน์ส่วนตนอยู่ได้อย่างไร  ในเมื่อเสือร้ายและหมาป่า-มหาอำนาจผู้รุกรานกำลังแย่งขย้ำเอกราชและความเป็นไทของประชาชาติไทย
            เราจะมามัวคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวอยู่ได้อย่างไร  ในเมื่อบ้านเมืองเราเป็นค่ายกักกันและขุมนรกอันมืดมน  โดยฝีมือของเผด็จการฟัสซิสต์
                การจะสร้างสรรค์ผลงานรับใช้ประชาชนได้ดีหรือไม่  เป้าหมายการทำงานเป็นพื้นฐานสำคัญ  ถ้ามีเป้าหมายเพื่อส่วนตัว  ย่อมไม่อาจทำงานเพื่อส่วนรวม  เพราะมันไปด้วยกันไม่ได้  และจะเสแส้รงก็ย่อมไม่ได้  งานเขียนที่ดีไม่อาจเสแสร้งเขียนขึ้นมาได้  น้ำตาปลอมของนางเอกหนังไทยบางเรื่องไม่อาจทำให้คนดูสะเทือนใจได้อย่างแท้จริง  ไม่อาจเสแส้รง  หากต้องถอดออกมาจากชีวิตจิตวิญญาณแท้จริงทุกตัวอักษร  ทุกบรรทัดย่อมสะท้อนจุดมุ่งหมายของผู้เขียน
                ทั้งในอดีตและปัจจุบัน   ได้มีนักขเยีนของประชาชนก้าวไปบนเส้นทางเกียรติยศแห่งการรับใช้ประชาชนภายใต้สภาพที่ยากลำบากคือ  อยู่ใต้เงาปืนของเผด็จการฟัสซิสต์  หลายคนเสียสละเกียรติยศจอมปลอม  เสียสละช่องทางแห่งการกอบโกย  มาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อประชาชน  บางคนไดพิสูจน์ให้เห็นว่า  เขาไม่เสียดายแม้จะเสียสละชีวิตอันมีค่า(มีค่าเพราะเป็นชีวิตของคนที่ทำงานเพื่อส่วนรวม)  สร้างแบบอย่างอันสูงส่งแก่นักเขียนรุ่นหลังและมวลชนนักต่อสู้
                ทุกวันนี้อุดมการณ์ของนักเขียนเพื่อประชาชนนับวันแข็งกล้า  แผ่ขยาย  ผลงานสร้างสรรค์นับวันมีพลัง  ไม่ว่าจะมีความยากลำบากอย่างไร  สามารถยืนหยัดสร้างผลงานได้ถึงที่สุด  การุดหน้าไปอย่างย่อท้อ
                มีบทกวีบทหนึ่งที่สะท้อนอุดมการณ์เช่นนี้อย่างลึกซึ้งว่า
                            เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
            สักพันชาติจะสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
            แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
            จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน

  นักเขียนต้องกล้า

                ชีวิตการต่อสู้ของประชาชนมีเรื่องราวอยู่มากมาย  เป็นเสมือนวัตถุดิบของโรงงานสมองและปากกา  เป็นต้น  ธารของศิลปะวรรณคดีอันอุดมสมบูรณ์  เมื่อต้องการวัตถุดิบ  ต้องการสร้างสรรค์ศิลปวรรณคดีก็ต้องกล้าบุกเข้าไปให้ถึงแหล่งวัตถุดิบ  ให้ถึงต้นธารของมัน  เมื่อนักเขียนจะไปสัมผัสชีวิตของประชาชน  ก็ต้องใช้ความกล้าระดับหนึ่ง  หรือเดิมทีบางคนมีเงื่อนไขในการสัมผัสสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ  แต่พอตั้งใจจะสัมผัสขึ้นมา  ก็ต้องรวบรวมความกล้าเช่นกัน  หรือแม้แต่การจะนั่งรถผ่านๆ มองคนจนด้วยความเห็นอกเห็นใจ  ก็ต้องใช้ความกล้าอีกเหมือนกัน  ที่พูดเช่นนี้เพราะบางคนไม่กล้าแม้แต่จะเห็นใจคนยากคนจน(เห็นใจจริงๆ ไม่ใช่หลอกๆ)  เหลียวไปเห็นชาวนาแว่นหนึ่งก็สรุปทันทีว่า “ชาวนาขี้เกียจ” อะไรทำนองนี้  เขาไม่กล้าเพราะมันขัดผลประโยชน์ของเขา
                ยิ่งถ้านักเขียนตัดสินใจจะใช้ปากกาของตนเป็นส่วนหนึ่งแห่งการต่อสู้ของประชาชน  ก็ยิ่งต้องใช้ความกล้ายิ่งขึ้นอีก  กล้าจะท้าทายอิทธิพลของมหาอำนาจผู้รุกราน  กล้าท้าทายอำนาจของเผด็จการฟัสซิสต์  กล้ากบฏต่อความสะดวกสบายที่มีอยู่เดิมไปสู่สภาพใหม่ที่ยากลำบากกว่าเก่าเพื่อเข้าถึงต้นธารของศิลปวรรณคดี  เพื่อจะได้ทำงานสร้างสรรค์อย่างมีชีวิตชีวา  ปลุกผู้ถูกกดขี่ให้ลุกขึ้นมาพบแสงแห่งสัจจะ  เหล่านี้เป็นความกล้าที่ประชาชนต้องการ
                การหมกตัวเป็นกวีราชสำนัก  ไม่ยอมรับรู้โลกกว้าง  มีแต่สายตาจะสั้น   ความคิดจะแคบลง  ไหนเลยจะสร้างผลงานรับใช้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้  มีแต่ต้องกล้าบุกกล้าผจญ  กวีสมัยก่อนเขียนเป็นฉันท์ไว้ว่า  “จงจรเที่ยว  เที่ยวบทไป  พงพนไพร  ไศลลำเนา”  คือส่งเสริมให้ท่องเที่ยวไปพบสิ่งใหม่  และยังมีบทกวีของต่างประเทศว่า  “อินทรีโผบินไปในนภา  มัจฉาแหวกว่ายกลางสายชล”  คือส่งเสริมให้ไปฝ่าคลื่นลม  หากเรามีเป้าหมายว่าจะทำงานรับใช้ประชาชน  การออกไปฝ่าคลื่นลมย่อมหมายถึงไปพบบทเรียนแห่งการต่อสู้ในชีวิตของประชาชน  ไม่ใช่ผจญภัยเพียงเพื่อพิสูจน์ความเป็น “แมน” ของข้าอย่าง “สิงห์เท็กซัส”
                และเมื่อมั่นใจว่าต้องทำงานเพื่อประชาชนไปตลอดชีวิต  ก็ต้องกล้าบุกกล้าผจญตลอดชีวิตเช่นกัน  ส่วนรูปธรรมการทำเช่นนี้ก็ต้องแล้วแต่สภาพความเป็นจริงของแต่ละบุคคล
                การกล้าศึกษาสิ่งใหม่ๆ  กล้าสัมผัสแนวคิดที่ขัดแย้งกับความคิดที่เรายึดมั่นอยู่เดิม  กล้าบุกกล้าผจญไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเป็นเงื่อนไขช่วยให้หูตาเรากว้างไกล  ความคิดพัฒนาสดชื่นอยู่ไม่ขาด  ความคิดเก่าสิ้นอายุไป  ความคิดใหม่เกิดขึ้นมา  มีแต่ต้องอยู่ท่ามกลางความเคลื่อนไหว  จึงจะมีการพัฒนา
                การรับรู้  ทำความเข้าใจชีวิตที่เป็นจริง  บางด้านบางเรื่องต้องใช้เวลาสะสมยาวนานพอสมควร  มิใช่จะสุกงอมเอามาเขียนได้ทันที  ในการเผชิญคลื่นลมมีทั้งเรื่องราวที่เขียนออกมาเป็นตักอักษรบนกระดาษได้ทันที  และที่เขียนไว้ในใจ

มีเข็มทิศในการทำงาน  ประสานทฤษฎีกับรูปธรรม

                เมื่อเราทบทวนอ่านไดอารี่เก่าๆ ก็มักรู้สึกเหนียมอาย  และได้แต่คิดว่า  ทำไมเราอ่อนหัดน่าขันเช่นนั้น  เพื่อนนักเขียนบางคนนั่งฉีกผลงานเก่าๆ ของตนเองด้วยความรู้สึกว่า “ทำไมต้องเสียเวลานั่งเขียนเรื่องห่วยๆพรรค์นั้น”  แต่ว่ามันก็คือความเป็นจริง  ถ้าไม่มีวันนั้น   ก็คงไม่มีวันนี้  มีอดีตจึงมีปัจจุบัน  ต่ออดีตเรามีบทเรียน  แต่อนาคตเราก็ยังอ่อนหัดอยู่ดี  เพราะโลกเปลี่ยนไป  สิ่งใหม่ที่เรายังไม่รู้จักเกิดขึ้นเสมอ  แต่เราก็พอจะลดความสะเปะสะปะในอนาคตลงได้  ถ้าเรามี “เข็มทิศ” ชี้ทางเดิน
                ผมเองก็เช่นกัน  เคยสะเปะสะปะเหมือนคนตาฟาง  เขียนไปตามที่ตัวเองนั่งคิดเอาว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นมันน่าจะเป็นอย่างนี้  อาจจะเรียกได้ว่า “ชี้นำการเขียนด้วยอัตวิสัย”  ซึ่งมีทั้งเข้าท่าและไม่เข้าท่า  แต่ส่วนมากจะไม่เข้าท่า  ตัวละครที่เราเขียนถึงแต่ก่อนจึงไม่ค่อยเหมือนคนจริงเท่าไรนัก  แต่เป็นหุ่นที่เราปั้นขึ้นมา  ตัวละครที่เป็นชาวนา  ไม่ได้พูดคิดหรือกระทำอย่างชาวนาจริงๆ  แต่กลับไปเหมือนคนเขียนก็มี  และเมื่อค้นคว้าลงไปอีกทีก็พบว่าตัวเองขาดการนำทฤษฎีทางสังคมการเมืองและศิลปวรรณคดีมาใช้
                ในความเป็นจริง  ภารกิจทางวรรณกรรมจักต้องสัมพันธ์อย่างสนิทแน่นแฟ้นกับภารกิจด้านอื่นๆ ที่สำคัญคือสังคมการเมือง-เศรษฐกิจ  ทฤษฎีสังคมการเมืองที่ว่าคือทฤษฎีของฝ่ายประชาชน  มีเนื้อหาก้าวหน้า  การซึกษาปรัชญาที่ก้าวหน้าช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ที่สับสนซับซ้อนของโลกและชีวิต  การศึกษาเศรษฐศาสตร์ของประชาชนช่วยให้เข้าใจระบบกลไกแห่งการขูดรีดที่คนส่วนน้อยกระทำต่อคนส่วนใหญ่  การศึกษาประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้นของประชาชน  ช่วยให้มองเห็นพลังประชาชน  มองเห็นทางออกที่สดใส  และการศึกษาทฤษฎีทางศิลปะวรรณคดีช่วยให้เรามองเห็นลู่ทางในการทำงานสร้างสรรค์มากขึ้น
                การศึกษาทฤษฎีเป็นเพียงการรับรู้ขั้นต้น  ยังไม่เกิดความเข้าใจที่แท้จริง  แต่เมื่อได้นำไปใช้ในการทำงาน  การต่อสู้  นำไปประสานกับรูปธรรมที่พบเห็นในการ “กล้าบุกกล้าผจญ” นั่นแหละจึงจะค่อยเข้าใจขึ้นมา
                เช่น ปรัชญาวิภาษวิธีแห่งวัตถุนิยม  ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่ว่า “หนึ่งต้องแยกเป็นสอง” ถ้านำไปใช้วิเคราะห์สภาพความเป็นจริงที่เราพบเพื่อแปรเป็นงานเขียน  ก็จะช่วยให้การกุมเนื้อหาของเรื่องสอดคล้องกับความเป็นจริง  มีชีวิตชีวา  ตัวละครก็มีลมหายใจ  มีสมอง  ความคิดและกิริยาท่าทางของตัวละครก็มีลักษณะเคลื่อนไหว  เปลี่ยนแปลงพัฒนาโดยตลอดตามสภาพเงื่อนไขภายนอก  และปัจจัยภายในของตัวละครนั้นๆ มีภาพสองด้านของตัวละครตัวหนึ่ง
                การทำงานเขียนสร้างสรรค์เป็นการเอาภาพความจริงมาดัดแปลง  ปรุงแต่งต่อเติมบนพื้นฐานของความเป็นจริง  และส่วนที่เราคิดต่อเติมนี้อาจมีแนวโน้มไปทาง “อภิปรัชญา” ได้ลักษณะด้านเดียว  โดดเดี่ยว  ผิวเผิน  และหยุดนิ่งโผล่หางออกมาให้เห็นได้ไม่ยาก  เช่นวางโครงเรื่องไว้ว่า  ตอนจบ  คุณแมนสรวงจะต้องเป็นคนดี(หลังจากตีหน้ายักษ์ตลอดเรื่องจนเมื่อยหน้า)  พอเขียนไปถึงตอนที่ ๕๐๐ คุณแมนสรวงก็พูดว่า “ผมรู้ตัวว่าทำผิดไปแล้ว  การกดหัวคนอื่นเป็นเรื่องไม่ดี  จงทำดี  มีศีลธรรม  ถือความสัตย์”  แต่พอคนอ่านๆ จบแล้วไม่เชื่อว่าคุณแมนสรวงถูกเขียนบังคับให้พูดเช่นนั้น  ผลคืองานเขียนชิ้นนั้นขาดพลังปลุกเร้าใจให้คนอ่านเชื่อถือ  รู้สึกไม่สมจริง
                ผู้เขียนก็เสียท่าให้ “อภิปรัชญา” บ่อยๆ เช่นวางโครงเรื่องตามที่ตนต้องการอย่างเดียว  หรือปล่อยโครงเรื่องไปตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจนคนอ่านจับอะไรไม่ได้  หรือยัดเยียดคำพูดก้าวหน้าอย่างยิ่งใส่ปากตัวละครที่ล้าหลัง  หรือเชิดชักบทบาทล้าหลังให้ตัวละครที่น่าจะก้าวหน้ากว่านั้น  เห็นปรากฏการณ์หดหู่มากๆ ก็เขียนแต่ด้านหดหู่จนกลายเป็นบั่นทอนกำลังใจคนอ่าน  หรือไม่ก็ “ปล่อยไก่” ให้ตัวละครที่ว่าเป็นชาวนาทำอะไรที่ชาวนาเขาไม่ทำกัน  เช่นให้แม่แสดงความเอ็นดูลูกสาวด้วยการจับปลายคางลูกสาว
                มีคำพูดเหลวไหลที่ว่า  นักศึกษาทฤษฎีทางสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจมาก  งานเขียนจะกระด้าง  เพราะความจริงมันตรงกันข้าม  นักเขียนที่คับแคบและลุ่มหลงตนเองบางคนยังอุตส่าห์แสดงความเห็นของเธอว่า “อเมริกาแกล้งแพ้ในสงครามอินโดจีน” ความเห็นเช่นนี้ถ้าแสดงออกในงานเขียน  จะทำให้งานเขียนอ่อนโยนหรือแข็งกระด้างเล่า?  ถ้าไม่เข้าใจทฤษฎีทางสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจ  หรือรู้งูๆ ปลาๆ นั่นแหละโอกาสที่จะ “แข็งกระด้าง” ยิ่งมีมาก
                จิตร ภูมิศักดิ์ ศึกษาภาษาศาสตร์อย่างลึกซึ้งจนถึงรู้ความเป็นมาของถ้อยคำภาษา  เขาจึงมีภาษาอันอุดมสมบูรณ์ที่จะมาเขียนหนังสือให้อ่านง่ายๆ กะทัดรัด  ได้อารมณ์เป็นนายของภาษา  แต่คนที่ศึกษาภาษาศาสตร์งูๆ ปลาๆ แล้วพยายามจะใช้ถ้อยคำศัพท์แสงโอ่ๆ อ่าๆ โดยไม่เหมาะกับความหมายของมัน  ก็ทำให้งานเขียนอ่านยาก  ที่พอจะเปรียบเทียบกับการศึกษาทฤษฎีทางสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจได้
                ผมเชื่อมั่นว่า  การจะทำงานสร้างสรรค์วรรณกรรมให้ได้ดี  มีแต่ต้องศึกษาทฤษฎีที่ก้าวหน้าประสานกับการปฏิบัติที่เป็นจริง  มีทั้งเศรษฐศาสตร์ในหนังสือและเศรษฐศาสตร์ในท้องนา  ให้มันฝังลึกอยู่ในจิตสำนึก  มีใช่เป็นเพียงเนคไทประดับหน้าอก  หรือดาบอาญาสิทธิ์ของเอกชนเที่ยวฟาดฟันโดยไม่รับผิดชอบ  แต่เป็นดาบอันคมกริบในมือของประชาชน
                เมื่อมีเข็มทิศชี้นำการทำงาน  ก็ช่วยให้มองเห็นวิถีทางการสร้างสรรค์ชัดเจนว่าจะรับใช้ใครจะทำอย่างไร  การเลือกเนื้อหา  แง่มุมในการเขียนทำได้ตรงเป้าขึ้น  คนอ่านย่อมต้อนรับ  ในยุคสมัยหนึ่งๆ มันจะมีเรื่องราวบางอย่างอยู่ในหัวใจของมวลชน  การศึกษาทฤษฎีที่ก้าวหน้าทั้งทางสังคมและวรรณคดี  ช่วยให้เห็นประตูทางเข้าไปนั่งในหัวใจของมวลชน  สามารถสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ออกมาอย่างชีวิตชีวา  และในงานเหล่านี้ก็จะมีงานบางชิ้น  เป็นตัวแทนอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันของคนในยุคสมัย  ทำหน้าที่เป็นเสมือนจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ถึงคนรุ่นหลัง

รูปแบบกับเนื้อหา

                งานเขียนชิ้นหนึ่งๆ มีส่วนประกอบสำคัญ ๒ ส่วน  คือเนื้อหากับรูปแบบ  เนื้อหาคือเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนในด้านและแง่มุมต่างๆ ที่ผู้เขียนมุ่งหมายสื่อสารถึงผู้อ่าน  รูปแบบเป็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้อ่านได้รับเนื้อหาอย่างเต็มที่  ในการเขียนหมายถึงจะเขียนแบบใด(ร้อยแก้ว  ร้อยกรอง) จึงจะเหมาะสมกับเนื้อหา  ใช้ท่งทำนองการเขียนแบบใด(ถ้อยคำสำนวน  การลำดับความหรือการดำเนินเรื่อง  ลีลาการเสนอเรียบๆ หรือผาดโผนตามสภาพของเนื้อหา)
                งานเขียนชิ้นหนึ่ง เนื้อหาเป็นด้านหลักเพราะมันคือเป้าหมายของผู้เขียนเป็นเบื้องต้นที่จะกำหนดว่างานเขียนชิ้นนั้นจะใช้ได้หรือไม่  ส่วนรูปแบบเป็นด้านรอง  มันเป็นสะพานให้เนื้อหาข้ามไปถึงคนอ่าน  ดังนั้นนักเขียนของประชาชนจึงทุ่มเทพลังกายพลังใจในการค้นคว้าเนื้อหามากกว่า  แต่ก็ไม่ทอดทิ้งการค้นคว้ารูปแบบ   เพราะไก่งามเพราะ(มี)ขน(เป็นส่วนประกอบ)  ถ้าไก่ไม่มีขนกลายเป็นความทุเรศตา  ในกรณีที่งานเขียนชิ้นหนึ่งมีเนื้อหาที่รับใช้ประชาชนแล้ว  รูปแบบก็อาจขึ้นมาอยู่ในฐานะปัจจัยชี้ขาดได้เหมือนกันว่างานเขียนชิ้นนั้นจะรับใช้ประชาชนได้ดีหรือไม่  ผมเห็นด้วยที่มีคนกล่าวว่าถึงเนื้อหาจะดีหากรูปแบบเป็นอุปสรรคก็ไม่อาจเข้าถึงคนอ่าน  ในทางตรงกันข้าม  หากเนื้อหาไม่ดี  ถึงรูปแบบจะดีเพียงใด  ก็เหมือนไก้เน่าขนงาม  เพียงได้กลิ่นก็โยนลงถังขยะได้เลย
                ที่ว่าเนื้อหาดี  คือดีในความหมายของคนส่วนใหญ่คือกรรมกรชาวนา  ดีในความหมายของประชาชาติไทย  เป็นเนื้อหาคัดค้านการกดขี่  เชิดชูผู้ใช้แรงงาน  คัดค้านการรุกราน  สดุดีการต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตย    แสดงบทบาทสัมพันธ์กับภารกิจด้านอื่นๆ ในสังคมอย่างสนิทแน่นแฟ้น  รูปแบบที่ดีคือรูปแบบที่สอดคล้องกับเนื้อหาข้างต้น  เหมาะสมกับคนอ่านกลุ่มนั้นๆ ที่เป็นเป้าหมายช่วยให้ผู้อ่านได้รับเนื้อหาเต็มที่
                ตัวผู้เขียนเองเป็นผู้ทำงานศิลปวัฒนธรรมที่มาจากปัญญาชน  สภาพความเป็นจริงของการศึกษา  การดำรงชีวิต  ค่อนข้างห่างเหินชีวิตที่เป็นจริงของคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ฉะนั้นจุดอ่อนที่แสดงออกในการทำงานเขียนจึงมีทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบ  ขาดความเข้าใจในชีวิตการต่อสู้ทางการผลิต-ทางสังคมของประชาชน  ขาดความเข้าใจในท่วงทำนองการเล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายๆ แบบชาวบ้าน  ขาดความเข้าใจอันลึกซึ้งในภาษาที่มีชีวิตชีวาของกรรมกรชาวนา  การจะแก้จุดอ่อนนั้นเห็นจะได้โดยต้องมีเป้าหมายการทำงานที่ถูกต้อง  เข้าร่วมต่อสู้คลุกคลีทำความเข้าใจชีวิตที่เป็นจริงของคนส่วนใหญ่

เตรียมให้พร้อม   ประกันชัยชนะ

                ช่างก่อสร้างย่อมมองเห็นบ้านสำเร็จรูปทั้งหลังตั้งแต่เริ่มลงเสาบ้าน
                ก่อนลงมือเขียน  ผมเห็นว่าเราควรมีภาพสมบูรณ์ขั้นสุดท้ายอยู่ในสมอง  มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าจะแสดงเนื้อหาอะไร  มองเห็นฉาก  มองเห็นใบหน้าตัวละคร  และมองเห็นจังหวะก้าวคร่าวๆ ว่า ตัวละครแต่ละตัวจะแสดงบทบาทไปในแนวไหน  มีจุดหนักจุดเบาในการดำเนินเรื่องอย่างไร  และโครงเรื่องที่วางไว้ก่อนย่อมพลิกแพลงไปได้ตามสภาพที่เหมาะสมในกรณีที่ค้นพบประเด็นใหม่ที่เหมาะสมกว่า
                ถ้าการเตรียมข้อมูล  เตรียมเค้าโครงดี  เวลาที่ลงมือเขียนจริงๆ ก็ไม่น่าจะยืดเยื้อเกินไป  เช่นเดียวกับการคลอดลูกย่อมสั้นกว่าเวลาตั้งครรภ์
            เรื่องสั้นหรือบทกวีดีๆ บางชิ้นอาจใช้เวลาเขียนไม่มาก  ทว่าได้ผ่านการสะสมประสบการณ์และข้อมูลมาเป็นปี
                ปัญหาที่พบในการเขียนหนังสือ  ถ้าขาดการเตรียมพร้อม  งานชิ้นนั้นก็อาจล้มกลางคัน  หรือเขียนไปก็จืดชืดคลุมเครือจนอาจเกิดความผิดพลาดทางเนื้อหา  น่าเห็นใจว่าในสังคมที่นักเขียนต้องทำงานแข่งกับค่าครองชีพ  การต้องทำงานทั้งที่เตรียมไม่พร้อมนั้นเป็นไปได้ง่ายมาก  การแก้ปัญหาพรรค์นี้คงต้องพูดกันยาว

โลกทรรศน์ชี้ขาดผลงาน

                นักเขียนจะยืนหยัดในเป้าหมายการทำงานเพื่อมวลชนได้หรือไม่  หรือได้ดีหรือไม่  การใช้ชีวิตส่วนตัวเป็นปัญหาสำคัญทีเดียว  การใช้ชีวิตส่วนตัวย่อมสัมพันธ์กับการทำงาน  ส่งผลสะเทือนแก่กัน  ไม่อาจแยกขาดจากกันได้  พูดอีกแง่หนึ่ง  ชีวิตส่วนตัวของนักเขียนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน  เป้าหมายในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างไร  งานเขียนก็สะท้อนออกมาอย่างนั้น
                การทำงานสร้างสรรค์รับใช้ประชาชน  จำเป็นที่นักเขียนต้องเข้าใจ  ความคิดความเรียกร้องต้องการที่แท้จริงของประชาชน  เข้าใจอารมณ์ความรู้สึก  มีสำนึกอันละเอียดอ่อนร่วมกับพวกเขา
            ดาราละครจะสวมบทบาทตัวละครได้ดีคือการทำให้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองกว้างขวางไม่ผูกมัดด้วยเอกชน  รับบทอะไรก็ได้ที่รับใช้ประชาชน  นักเขียนจะทำงานได้ดีก็ต้องไม่ผูกมัดตัวเองด้วยความคิดเอกชน  ออกห่างจากความคิดคับแคบตื้นเขิน  จึงจะสามารถสะท้อนทุกมิติของภาพและดิ่งลึกลงไปในวิญญาณของผู้ใช้แรงงาน  จับธาตุแท้ของคนฐานะต่างๆ มาแปรเป็นตัวหนังสือ

คนอ่านน่ารัก  คนเขียนคึกคัก

                ในความเห็นของผม  ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านกับคนเขียน  มีสำคัญอยู่สองแบบ  คือแบบที่หนึ่งความสัมพันธ์แบบการค้า  วรรณกรรมกลายเป็นสินค้าราคาถูกที่สร้างความร่ำรวยให้แก่ไม่กี่คน  และคนอ่านก็ไม่ได้มีสติปัญญาเพิ่มเติมจากการอ่าน  เป็นเรื่องน่าขมขื่นใจทั้งคนเขียนคนอ่าน  แบบที่สองคือความสัมพันธ์ทางอุดมการณ์  เมื่อเรา(ไม่ว่าคนเขียนหรือคนอ่าน) มีจุดมุ่งหมายทางความคิดร่วมกัน   เราต่างใช้ความถนัด  ความสามารถที่เรามีไปช่วยกันผลักดันให้จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจริงขึ้นมา  ความสัมพันธ์เช่นนี้มีได้ทุกที่ๆ มีการต่อสู้  คนอ่านกับคนเขียนเป็นเสมือนญาติสนิท  ได้เผชิญอุปสรรค  ฝ่าพายุคลื่นลมร่วมกัน  ความเอาใจใส่ถนอมรักกันย่อมเกิดขึ้น  ต่างเข้าไปนั่งในหัวใจของกันและกัน  ความอบอุ่นที่ได้รับมีค่ามากกว่าค่าลิขสิทธิ์ไม่กี่พันบาท  ค่าลิขสิทธิ์หมดแล้วอาจหาใหม่ได้ไม่ยาก  แต่หากเมื่อใดเราทรยศผู้อ่าน  ย่อมไม่มีความถนอมรัก  ไม่มีความอบอุ่นจากผู้อ่าน  มันคงเงียบเหงาและว้าเหว่มากไม่ใช่หรือ  สำหรับคนเขียนหนังสือ  แต่เรื่องเศร้าแบบนั้นไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ มวลชนผู้อ่านให้โอกาสและให้ความเป็นธรรมแก่คนเขียนหนังสือเสมอ  นักเขียนที่เคยเดินสะเปะสะปะอย่างผมจึงเดินตรงทางขึ้นบ้าง  โดยอาศัยผู้อ่านยื่นมือให้จูง  ให้คำแนะนำ  ให้คำวิจารณ์เพื่อปรับปรุงงานเขียน สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า  เราน้อมใจพอหรือไม่ที่จะรับการช่วยเหลือจากคนอ่าน

            ทั้งหมดนี้เป็นบันทึกจากการทำงานของนักเขียนคนหนึ่ง  เป็นความคิดเห็นส่วนตัว  เป็นบันทึกสำหรับเรียกร้องตนเอง  สำหรับนักเขียนคนอื่นๆ ที่มีเงื่อนไข-สภาพความเป็นจริงแตกต่างกัน  ก็อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป  ไม่อาจเรียกร้องให้เหมือนกันหมด  อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะมีจุดใหญ่ๆ ร่วมกัน  โดยเฉพาะในปัญหาเพื่อใคร



วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ชีวิตเปลี่ยน
ศริติ ภูริปัญญา แปลจาก The Jungle
โดย Upton Sinclair สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๕๑๒ หน้า ราคา ๓๕ บาท
(อำนวยชัย ปฎิพัทธเผ่าพงศ์ เจ้าของบทความใน มาตุภูมิ ปีที่ 7,30 มกราคม 24,ฉบับที่ 1047)

            หนังสือเล่มนี้พากข้อความ “วรรณกรรมแนวสัจนิยม” ไว้ที่ปกหน้า แม้ว่าในความนำ คำนำของสำนักพิมพ์และคำนำของผู้แปล จะไม่มีคำใดๆอธิบายให้ความกระจ่างเกี่ยวกับคำที่ใช้นี้แต่อย่างใดก็ตาม กระนั้นสำหรับผู้ที่เป็นนักเลงหนังสือ  เรื่องแปลหรือผู้สนใจงานวรรณกรรม ซึ่งไม่ประสงค์จะอ่านหนังสือ เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว คงพอจะจับเค้าได้ลางๆอยู่บ้างว่าแนวสัจนิยมนั้นเป็นเรื่องประเภทไหน
                โดยเฉพาะในความนำที่ว่า “ซินแคร์ บรรยายไว้อย่างหมดเปลือกทุกซอกทุกมุมของโรงงาน(ฆ่าสัตว์ที่)พระเอกยูกีส(ทำงานอยู่)อยู่ไปอยู่ไปในอเมริกาก็ต้องสูญสิ้นหมดทุกอย่าง ตั้งแต่พ่อ, เมีย, ลูก  ตัวเองติดคุกติดตะราง  ในที่สุดเหลือแต่ตัวคนเดียวเดินท่อมๆไปอย่างไร้ความหวัง  และในช่วงที่เขากำลังจะหมดลมปราณ  เพราะไม่มีแม้แต่อาหารตกถึงท้องนั้น  เขาก็ไดพบและประจักษ์ว่า สังคมนิยมเท่านั้นที่จะสร้างโลกใหม่ชีวิตใหม่ให้แก่เขา”
                ข้อความในความนำนั้นเป็นการสรุปแก่นเรื่องของ “ชีวิตเปลี่ยน” ได้อย่างกะทัดรัด  ด้วยเนื้อเรื่องในหนังสือเล่มนนี้ เป็นชีวิตของครอบครัวชาวลิทัวเนียที่อพยพไปหา “ชีวิตที่ดีกว่า”  ในอเมริกาเมื่อประมาณแปดสิบปีที่แล้ว  แต่ทั้งหมดที่เขาประสพร่วมกับผองเพื่อนผู้อพยพอื่นๆก็คือความลำบากยากแค้น  มีชีวิตเพียงเพื่อจะอยู่ทำงานในอีกหนึ่งวันเท่านั้น  พวกเขาถูกขูดรีด, คดโกง, ข่มเหงบีฑาสารพัดสารพันและแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยหวังก็พินาศไปสิ้น  โดยไม่มีทางเข้าใจหรือตอบโต้กลับแต่อย่างใด
                ถ้าหนังสือเล่มนี้สมควรจะได้รับขนานนามว่าเป็นแนวสัจสังคม  ทั้งๆที่มีโครงเรื่องอย่างสั้นๆและง่ายๆ  ชนิดที่ผู้อ่านอาจจะคาดเดาได้จนจบแล้วล่ะก็  น่าจะอยู่ที่วิธีเดินเรื่อง  ซึ่งผู้เขียนใช้การบรรยายเป็นส่วนใหญ่  แทบจะกล่าวได้ว่า  ทุกบททุกตอนของการบรรยายไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันที่แสนจะทุกข์เข็ญ  ความสัมพันธ์ในครอบครัว  ความนึกคิด  อารมณ์และจิตใจของตัวละครนั้น  ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง
                บทสนทนาที่ปรากฏในเรื่องนั้น  นับได้ว่าน้อยและไม่ใช่เครื่องเดินเรื่องที่สำคัญแต่อย่างใด  หากแต่สอดแทรกอยู่อย่างพอเหมาะกับอากัปกิริยาที่ตัวละครแสดงออก  ซึ่งสะท้อนให้เห็นบุคลิกได้อย่างชัดเจน  เหมือนมีเลือดเนื้อ  หรือมีตัวมีตนจริงๆ
                กล่าวคือ  คิดและทำอย่างที่คนซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นพึงคิดและพึงทำ  ดังเช่นที่ผู้แปลกล่าวไว้ในคำนำว่า  “ซินแคร์ยังวาดตัวละครให้เป็นปุถุชนจริงๆ  โดยเนื้อแท้แล้วคนยังมีความโลภความหลงผิดเหมือนกันทั้งสิ้น  ดังเช่น ยูกีสตัวเอก  ทั้งที่เคยลำบากอดอยากปิ่มว่าจะตายลงไปวันแล้ววันเล่า  แต่เมื่อมีโอกาสก็ยังเป็นเหยื่อนายทุน, ขูดรีด, คอรัปชั่นเอากับพวกตัวกันเอง”  ซึ่งไม่ใช่คำที่เกินจริงแม้แต่นิดเดียว
                ผู้เขียนสามารถบรรยายให้เห็นสภาพภายในโรงงานฆ่าสัตว์ที่นครชิคาโกจนทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนอยู่ในโรงฆ่าสัตว์นั้นเอง  ได้กลิ่นเหม็นคาวเลือดของวัว  ความสกปรกโสโครก  การเอารัดเอาเปรียบ  ของเจ้าของโรงงานที่ปลอมปนเนื้อเลว  ที่เสียแล้วบรรจุหีบห่อเสียใหม่  ซ้ำร้ายตีตราว่าเป็นเนื้อชนิดพิเศษ  และขึ้นราคาให้แพงกว่าปกติ
                สภาพที่คนงานต้องทำงานติดต่อกันกว่าวันละสิบหกชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก  และยืนแช่อยู่ในน้ำเลือดท่วมขา  การทำงานในโรงปุ๋ยที่เหม็นอย่างวายร้ายและกลิ่นเหม็นนี้จะล้างไม่ออกจนกว่าคนงานจะชินกับมันเอง  ด้วยอัตราค่าจ้างที่พอกันตาย  พร้อมที่จะถูกปลดออกจากงานอยู่ทุกขณะ  ในขณะที่ข้างนอกโรงงาน  ที่คนงานที่ร่างกายอ่อนแอกว่ายืนคอยงานอยู่เป็นฝูงใหญ่
                แต่โรงงานฆ่าสัตว์ย่อมไม่ใช่หน่วยเศรษฐกิจที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว  ดังนั้นเองผู้เขียนจึงชอบธรรมที่จะพาดพิงประณามระบบสังคมทั้งระบบ  โดยใช้โรงงานเป็นตัวอย่างและจุดเริ่มต้น  เช่น  การกินสินบาทคาดสินบนของตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งอื่นๆ  ระบบการเมืองที่ใช้การคุมคนเป็นชั้นๆ  โดยอาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจ  และในทางกลับกัน  คนรวยก็อาศัยความมั่งคั่งยึดกลไกรัฐไว้ในมือ  เพื่อเสริมสร้างอำนาจเงินตราอีกชั้นหนึ่ง
                ในภาวะเช่นนี้  คนจนและบรรดาผู้ที่ถูกเหยียบย่ำทั้งปวง  ดูจะมีทางเลือกอยู่เพียงสองทางเท่านั้น  ทางแรก  ปล่อยชีวิตไปตามชะตากรรมที่ขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่วัฏจักรทางเศรษฐกิจ  และในทางกลับกัน  คนรวยก็อาศัยความมั่งคั่งยึดกลไกรัฐไว้ในมือเพื่อเสริมสร้างอำนาจเงินตราอีกชั้นหนึ่ง
                ในภาวะเช่นนี้  คนจนและบรรดาผู้ที่ถูกเหยียบย่ำทั้งปวง  ดูจะมีทางเลือกอยู่สองทางเท่านั้น  ทางแรก  ปล่อยชีวิตไปตามชะตากรรมที่ขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่วัฏจักรทางเศรษฐกิจ  ถ้าเขาหรือหล่อนคนนั้นแข็งแรงพอที่จะต่อสู้  ช่วงชิงกับคนในชนชั้นเดียวกับตน  ซึ่งมีภาวะที่ไม่แตกต่างกันหรือย่ำแย่กว่า  เพื่อทำงานหาเงินมาประทังชีวิต  หรือไม่ก็ยอมจำนนกับมันเสีย
                หากเป็นผู้หญิง  ก็เหลือทางเลือกทางเดียวนั่นคือไปขายตัว  ถ้าเป็นเด็ก  ก็ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนไปเป็นกุ๊ยข้างถนน  อย่างที่เมียและลูกของยูกีสจำต้องทำ  หรือไม่ก็ร่อนเร่เป็นขอทางขอเขากินเรื่อยไป  ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท  อย่างที่ยูกีสทำ  อีกทางหนึ่ง  หากเขามีลู่ทางและใจกล้าพอก็อาจจะตอบโต้สังคมด้วยการเป็นโจร, นักฉกชิงวิ่งราว  กระทั่งฉวยโอกาสเข้าทำงานในโรงงานในขณะที่คนอื่นๆ เขานัดหยุดงานกัน ฯลฯ
                ทั้งหมดเป็นภาพสะท้องของสังคมอเมริกันอย่างชัดแจ้งที่สุด  หากภาพทั้งหมดที่ผู้เขียนบรรยายให้เห็นนั้นเป็นจริง  มันจะเป็นภาพที่แตกต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ  กับภาพยนตร์อเมริกันที่เราเห็นกัน  ในหนังโทรทัศน์จินตนาการเกี่ยวกับความเจริญมั่งคั่งของสังคมอเมริกันทั้งหมด  ล้วนตั้งอยู่บนหลังไหล่ของคนงานอย่างยูกีสและครอบครัวทั้งสิ้น
                โรงงานฆ่าสัตว์ที่ตัวเอกทำงานด้วยนั้นไม่ต่างอะไรกับสังคมอเมริกันในมุมกว้าง  ค่าที่รีดเค้นเอาแรงงานของเขาจนหมดสิ้นและก็ฆ่าเสีย  เช่นเดียวกับคนงานที่ฆ่าวัวและหมู  ซึ่งตลอดเวลาผู้เขียนได้วาดภาพคู่ขนานให้เห็นอย่างเจ็บปวดระหว่างพวกสัตว์ที่ถูกต้อนเข้าโรงงาน  กับคนที่ค่อยๆ ถูกโรงงานฆ่าสัตว์โรงเดียวกันนั้นเองฆ่าทีละเล็กละน้อยอย่างเลือดเย็น  พร้อมกับที่ถูกสังคมป่นเอาวิญญาณจนเป็นผุยผงซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
                สิ่งที่ผู้เขียนบรรยายได้อย่างสมจริงและดึงดูดให้ผู้อ่านติดตามได้ตลอดเวลาก็คือ  อารมณ์และความรู้สึกของตัวละครทั้งหลาย  ซึ่งตกอยู่ในวิกฤตการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า  เรื่องเริ่มขึ้นในงานกินเลี้ยงแต่งงานตามประเพณีของชาวลิทัวเนีย  ด้วยบรรยากาศสนุกสนานร่าเริง  แต่เพียงไม่กี่หน้ากระดาษ  เรากลับรับรู้อารมณ์ของตัวละครที่มีความสุขกึ่งวิตกกังวลกับค่าใช้จ่าย  ความดิ้นรนกระเสือกกระสน  และพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อบ้านสักหลัง  ในท่ามกลางความหวาดหวั่นว่าจะถูกนายหน้าค้าบ้านโกงเอา   ซึ่งในที่สุดก็ถูกโกงจริงๆ
                ความปวดร้าวเมื่อเห็นลูกเมียป่วย ในขณะที่ตนเองไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา  ความทุกข์ทรมาน  ขณะนอนหยุดงานเพราะขาแพลง  ความกลัวที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน  เช่น เด็กๆ ที่กลัวการไปทำงานเนื่องจากต้องเดินฝ่าพายุหิมะด้วยเสื้อผ้าที่หนาไม่พอ  ความกลัวว่าจะตกงาน  ทั้งที่พยายามทำงานดีที่สุด  แต่ก็ตกงานจนได้เพราะโรงงานปิดตัวเอง  เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำวิกฤตการณ์  ซึ่งในที่สุดก็ทำลายตัวของตัวเองลงอย่างสิ้นเชิง  ถ้าหาก...ถ้าหากไม่บังเอิญไปฟังคำปราศรัยของผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคสังคมนิยมเสียก่อน
                คำว่า “สังคมนิยม” ดูจะเป็นพรจากพระเจ้าที่มาช่วยยูกีสไว้ในวาระที่คับขันอย่างถึงที่สุด  ชะรอยผู้เขียนอาจจะนึกว่า  คงจะไม่ยุตธรรมนักหากจะปล่อยให้ชีวิตของยูกีส  ซึ่งเป็นตัวแทนของคนงานจำนวนมากในชิคาโกในสมัยนั้นต้องพ่ายแพ้  และตายไปอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก  และไม่เสนอทางเลือกที่สามให้แก่ผู้ถูกกดขี่ขูดรีดทั้งปวงนั่นคือ  การลุกขึ้นสู้  แม้ว่าผู้อ่านจะจับความไม่ค่อยได้นักว่า  ขบวนการลุกขึ้นสู้ของคนงานในชิคาโกเป็นอย่างไร  เพราะในฉากช่วงนี้  ผู้เขียนก็ยังจับเฉพาะพฤติการณ์ของพระเอกแต่ตัวเดียวอยู่  จนดูเหมือนว่ายูกีสเองก็ไม่เข้าใจกับการลุกขึ้นสู้ของคนงานอื่นๆ  หากเขาไม่ได้รับคำอธิบายจากพวกนักสังคมนิยม
                ดังนั้น  การจบเรื่องนี้ด้วยการให้ยูกีสรู้จักและรับเอาความคิดสังคมนิยมจึงเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  เว้นแต่ผู้เขียนจะจงใจปล่อยให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจในทางลบต่อภาพสังคมอเมริกันที่ร่ายมาตลอดเพียงสถานเดียว  ซึ่งผู้เขียนเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น  แม้ว่ากระบวนการรับเอาความคิดใหม่ของยูกีสนี้  จะทำอย่าง่ายๆ และไม่ประทับใจเท่าใดนัก  และทำให้รู้สึกได้ว่า  มีความสมจริงน้อยกว่าตอนอื่นๆ

                “ชีวิตเปลี่ยน” เป็นงานวรรณกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่สอดคล้องกับคำที่กล่าวว่า “วรรณกรรมเป็นเครื่องสะท้อนสังคม” นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผู้อ่านจริงจังทั้งหลาย  รวมทั้งผู้ที่ต้องการเข้าใจสังคมอเมริกันในยุคเมื่อแปดสิบปีที่แล้ว  โดยเฉพาะสังคมเมืองใหญ่ทางแถบตะวันออก  จะพลาดไม่ได้เป็นอันขาด  ทั้งสำนวนแปลก็ราบรื่น  เมื่อเทียบกับงานชิ้นก่อนของผู้แปลคนเดียวกันนี้   

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โรงพิมพ์ของอนาอิส นิน
จาก The Story of My Printing Press From the Publish-It-Yourself Handbook, Pushart, 1973.

ในปีค.ศ. 1940 หนังสือสองเล่มของฉันคือ Winter of Artifice และ Under a Grass Bell  ได้รับการปฏิเสธจากผู้พิมพ์ชาวอเมริกัน  เรื่อง Winter of Artifice เคยได้รับการตีพิมพ์ในประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ  และได้รัลคำชมเชยจากรีเบคก้า เวสต์, เฮนรี่ มิลเลอร์,  ลอเรนซ์ ดูเรลล์, เคย์ บอยเล และสจ๊วต กิลเบิร์ต  หนังสือทั้งสองเล่มได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนังสือที่ไม่เกี่ยวข้องกับแง่ของการค้า  ฉันต้องการให้บรรดานักเขียนได้รู้ว่าพวกเขายืนอยู่ในสถานที่ที่ซึ่งสัมพันธ์กับคำตัดสินจากบรรดาผู้พิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้า  และการเสนอทางแก้ปัญหาที่ยังคงมีผลในทุกวันนี้  ฉัยกำลังคิดถึงเรื่องของบรรดานักเขียนผู้ซึ่งเป็นเสมือนนักวิจัยในวงการวิทยาศาสตร์  ผู้เป็นเจ้าของคำอุธรณ์ที่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์อย่างทันทีทันใด
ฉันไม่เคยยอมรับคำตัดสินนั้นและตัดสินใจจะพิมพ์หนังสือของฉันเอง  ฉันใช้เงินไปเจ็บสิบห้าดอลลาร์ในการซื้อเครื่องพิม์มือสองมาเครื่องหนึ่ง  มันทำงานโดยใช้แรงเท้าเหยียบเหมือนจักรเย็บผ้าแบบโบราณ  และคนทำจะต้องกดน้ำหนักลงไปบนคานอย่างหนักเพื่อให้มีกำลังในการหมุนลูกล้อ 
ฟรานเซส สเตลอฟ ผู้เป็นเจ้าของร้านขายหนังสือกอดแฮมที่นิวยอร์กให้ฉันยืมเงินหนึ่งร้อยดอลลาร์ในการเสี่ยงครั้งนี้  และธูเรมา โซโกล ให้ฉันยืมเงินอีกหนึ่งร้อยดอลลาร์   ฉันซื้อเครื่องพิมพ์เป็นเงินหนึ่งร้อยดอลลาร์  และใช้ลังส้มเป็นชั้นวางของ  และซื้อกระดาษที่เหลือทิ้งมา  เป็นกระดาษที่เหมือนกับการซื้อผ้าที่เหลือมาตัดเสื้อผ้า  กระดาษบางส่วนก็ค่อนข้างดีเพราะเป็นกระดาษที่เหลือจากการพิมพ์ชั้นเยี่ยม   เพื่อคนหนึ่งของฉันชื่อ กอนซาโล มอร์ได้ให้ความช่วยเหลือฉันในการออกแบบหนังสือ  ซึ่งเป็นงานที่เขามีพรสวรรค์มาก  ฉันเรียนรู้ในการตั้งเครื่องพิมพ์และเขาเป็นผู้เดินเครื่อง  เราซึกษาเรื่องเหล่านี้จากหนังสือหลายเล่มในห้องสมุด  ซึ่งก่ให้เกิดอุบัติเหตุที่น่าขันหลายเรื่อง  ตัวอย่างเช่น  หนังสือบอกว่า  “ให้ใส่น้ำมันที่ลูกกลิ้ง”  ดังนั้น  เราจึงใส่น้ำมันลงไปที่ลูกกลิ้งรวมถึงส่วนที่เป็นยางด้วย  แล้วก็มานั่งสงสัยว่าทำไมเราจึงพิมพ์งานไม่ได้เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์เต็มๆ
 เจมส์ คูนีย์จากนิตยสารฟินิกส์เป็นคนให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่พวกเราในเรื่องเทคนิคของการพิมพ์  การขาดความรู้ในด้านการพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษของเรายังทำให้เกิดข้อผิดพลาดอีกหลายประการ เช่น  ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับการใช้คำแยกกันของฉันในหนังสือเรื่อง  Winter of Artifice  เช่นคำว่า “lo-ve”  แต่สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือการจัดวางหนังสือแต่ละตัวด้วยมือได้สอนให้ฉันรู้จักหลักการทางเศรษฐศาสตร์  หลังจากอยู่กับหน้ากระดาษแผ่นเดียวมาหนึ่งวันเต็มๆ  ฉันสามารถตรวจพบถ้อยคำเกินจำเป็นมากมาย  ในตอนสิ้นสุดของแต่ละบรรทัดฉันมักคิดว่านี่คือคำ  นี่คือวลีที่จำเป็นหรือเปล่านะ?
มันเป็นงานที่หนักหนาสาหัส  เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนในการตั้งตัวพิมพ์,  ในการล็อกถาด, ในการแบกถาดตะกั่วที่หนักอึ้งไปยังเครื่องจักร, ในการหมุนเครื่องด้วยตัวเองที่ต้องเติมหมึกด้วยมือ,  ในการตั้งแม่พิมพ์ทองแดง(สำหรับบรรดาภาพประกอบทั้งหลายบนไม้หนาหนึ่งนิ้วเพื่อจะพิมพ์มัน  การพิมพ์แม่พิมพ์ทองแดงหมายถึงการเติมหมึกแต่ละแม่พิมพ์แยกกัน  ทำความสะอาดมันหลังจากการพิมพ์ไปแล้วหนึ่งครั้ง  และเริ่มขบวนการนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง)  มันใช้เวลาหลายเดือนในการพิมพ์เรื่อง Winter of Artifice และ Under a Grass Bell  แล้วยังมีการจัดเรียงหน้ากระดาษที่ตีพิมพ์แล้ว  แล้วก็เก็บตัวพิมพ์ไว้ในกล่อง
เราพบปัญหาหลายประการในการหาคนเย็บเล่มที่เต็มใจจะรับงานของโรงพิมพ์เล็กๆ  และยอมรับรูปแบบที่ไม่เหมือนหนังสือทั่วๆไป
ฟรานเซส สเตลอฟตกลงที่จะวางจำหน่ายหนังสือและอนุญาตให้ฉันจัดงานปาร์ตี้เปิดตัวหนังสือที่ร้านขายหนังสือกอดแฮม  หนังสือเหล่านั้นเสณ้จสมบูรณ์และสวยงาม  และกลายเป็นที่ชื่นชอบของนักสะสมในทุกวันนี้
การพิมพ์เรื่อง Winter of Artifice ครั้งแรกตีพิมพ์ทั้งหมดสามร้อยเล่ม  และผู้พิพม์คนหนึ่งที่ฉันพบในงานปาร์ตี้ได้อุทานขึ้นมาว่า “ผมไม่รูแฮะว่าคุณจะจัดการทำให้คุฯมีชื่อเสียงได้อย่างไร  กับหนังสือเพียงสามร้อยเล่มนี้”
ฟรานเซส สเตลอฟได้นำหนังสือเรื่อง Under a Grass Bell ไปให้เอ็ดมันด์ วิลสัน เขาปริทัศน์หนังสือเล่มนี้อย่างชื่นชอบในนิตยสารนิวยอร์กเกอร์  และทันทีนั้นเองผู้พิมพ์ทั้งหมดต่างก็พร้อมจะตีพิมพ์หนังสือทั้งสองเล่มอีกครั้งในรูปแบบของการพิมพ์ที่เป็นการค้า
เราไม่ได้ใช้คำว่า “ใต้ดิน”  แต่โรงพิมพ์กระจ้อยร่อย  และถ้อยคำจากปากสู่ปาก  สามารถทำให้งานเขียนของฉันถูกค้นพบ  อุปสรรคเพียงอย่างเดียวก็คือ  บรรดาหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั้งหลายที่ไม่ใส่ใจหนังสือพิมพ์จากโรงพิมพ์เล็กๆ  และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการปริทัศน์หนังสือเหล่านี้  แต่การปริทัศน์ของเอดมันด์ วิลสัน เป็นข้อยกเว้นประการหนึ่ง  มันเป็นการเปิดตัวฉันสู่ตลาด  ฉันเป็นหนี้เขาในเรื่องนั้น  และเสียใจอยู่แต่ว่าการยอมรับของเขาไม่ได้ขยายต่อถึงงานที่เหลือของฉัน
ฉันต้องตีพิมพ์หนังสือเหล่านั้นอีกครั้งโดยยืมเงินจากทนายความชื่อ แซมมวล โกลด์เบิร์ก
มีบางคนคิดว่าฉันน่าจะส่งเรื่องเกี่ยวกับโรงพิมพ์ของฉันไปที่ Reader’s Digest  Digest  โต้ตอบมาว่าถ้าฉันต้องตีพิมพ์หนังสือเหล่านั้นด้วยตัวของฉันเอง  มันต้องออกมาเลวแน่ๆ  ผู้คนอีกหลายคนยังคงเชื่อว่า  มีความเคลือบแคลงอย่างหนึ่งว่าความยุ่งยากและอุปสรรคต่างๆในการพิมพ์ของฉัน  บ่งชี้ถึงคุณภาพที่น่าสงสัยในงานของฉัน  หนึ่งปีก่อนการตีพิมพ์ไดอารี่  คนหนึ่งได้เขียนลงในฮาร์วาร์ดแอดโวเคต ว่า การไม่มีคำวิจารณ์ และความไม่สนใจไยดีของบรรดาผู้พิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าบ่งบอกว่างานนั้นมีข้อบกพร่อง
การตีพิมพ์ Winter of Artifice  จำนวนสามร้อยเล่มเสียค่าใช้จ่ายในการพิมพ์และเย็บเล่มทั้งหมดสี่ร้อยดอลลาร์  หนังสือขายราคาเล่มละสามดอลลาร์  ฉันตีพิมพ์แผ่นโฆษณา  และส่งเวียนไปยังบรรดาเพื่อนๆ และคนที่รู้จักมักคุ้น   ปรากฏว่าหนังสือทั้งสองเล่มขายได้หมดเกลี้ยง
แต่แรงงานที่สูญเสียไปในการทำงานทำเอาฉันหมดสิ้นเรี่ยวแรงและมันยังไปขัดขวางงานเขียนของฉันด้วย  นี่เป็นเพียงเหตุผลเดียวที่ทำให้ฉันต้องยอมรับข้อเสนอในการตีพิมพ์ของผู้พิมพ์ทางการค้ารายหนึ่ง  และละทิ้งการพิมพ์ไป  ไม่เช่นนั้นฉันคงจะทำงานพิมพ์ของฉันต่อไป  ด้วยการควบคุมทั้งสิ่งที่บรรจุอยู่ในหนังสือและการออกแบบของหนังสือด้วย
ฉันรู้สึกเสียใจที่เลิกโรงพิมพ์ไป  เพราะด้วยการพิมพ์ของผู้พิมพ์ทางการค้าทำให้ปัญหาต่างๆของฉันเริ่มเกิดขึ้น  ในตอนนั้นเหมือนกับทุกวันนี้  พวกเขาต้องการผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่และรวดเร็ว  การเสี่ยงโชคสำหรับผลตอบแทนที่รวดเร็วไม่มีอะไรจะไปทำได้เพราะต้องอาศัยความต้องการของสาธารณชนซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้งและการเลือกหนังสือซักเล่มหนึ่งของผู้พิมพ์ก็ไม่สามารถจะนำมาพิจารณาได้ในฐานะที่เป็นตัวแทนเสียงของประชาชน  แรงกระตุ้นเริ่มขึ้นด้วยความเชื่อขงผู้พิมพ์  ผู้มีเบื้องหลังการเลือกคือการโฆษณาจองปลอมในฐานะที่เป็นผู้ตัดสินเกี่ยวกับวรรณกรรม  ดังนั้นหนังสือทั้งหลายที่ถูกยัดเยียดให้สาธารณชนจึงเหมือนกับผลิตผลทางการค้าชิ้นอื่นๆ ในกรณีของฉันทัศนะที่ขาดเหตุผลของผู้พิมพ์กระจ่างชัดยิ่งนัก  พวกเขารับงานของฉันในฐานะนักเขียนที่มีเกียรติคนหนึ่ง  แต่นักเขียนที่มีเกียรติคนหนึ่งไม่สามารถตีราคาโฆษณาได้  และดังนั้นหนังสือจึงขายได้พอประมาณ  การพิมพ์เรื่อง Ledders to Fire จำนวนห้าพันเล่มของผู้พิมพ์ที่เกี่ยวข้องทางการค้าจึงไม่พอเพียง
คุณภาพทั่วไปในการเขียนที่ดี  ที่ผู้พิมพ์เรียกร้องที่จะให้ยอมรับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถให้คำจำกัดความได้  ถึงกระนั้นก็ตามหนังสือทั้งหลายของฉันที่ไม่ถือว่ามีคุณภาพทั่วไปนี้ก็มีคนหลากหลายประเภทซื้อหามาอ่านกันโดยถ้วนหน้า
ทุกวันนี้แทนที่ฉันจะรู้สึกขมขื่นเพราะผู้พิมพ์มีความเห็นไม่ตรงกัน  ฉันกลับมีความสุขที่พวกเขาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับฉัน  เพราะสำนักพิมพ์ทำให้ฉันมีอิสระและมีความเชื่อมั่น  ฉันรู้สึกได้ติดต่อกับสาธารณชนโดยตรง  และมันก็เพียงพอแล้วที่จะประคับประคองตัวฉันผ่านพ้นปีต่อๆ มาได้  ในระยะต้นของการทำธุรกิจกับผู้จัดพิมพ์ในทางการค้าจบสิ้นลงด้วยความหายนะ  พวกเขาไม่พอใจกับยอดการขาย  ผู้พิมพ์และร้านขายหนังสือไม่เคยสนใจการขายระยะยาว  แต่โชคดีที่ฉันได้รู้จักกับอแลน สวอนโลว์ที่เดนเวอร์ โคโลราโด  เขาเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ที่พิมพ์ด้วยตัวเอง  เป็นอิสระ  ผู้เริ่มการพิมพ์ของเขาในโรงรถ  เขาต้อนรับสิ่งที่เขาเรียกว่า “นักเขียนอิสระ”( maverick writers)  เขารวบรวมหนังสือทั้งหมดของฉันตีพิมพ์  เขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย  และอุปสรรคทั้งหลายที่เป็นเรื่องปกติของพวกเราได้ก่อให้เกิดสัญญาผูกมัดที่แข็งแรง  เขาประสบปัญหาต่างๆ เหมือนเดิมได้แก่ปัญหาในการวางจำหน่าย  และปัญหาในการปริทัศน์หนังสืออย่างที่ฉันเองก็รู้ดี  และเราก็ช่วยเหลือกันและกัน  เขามีชีวิตอยู่นานพอที่จะได้เห็นฉันเริ่มต้นมีชื่อเสียง  ได้เห็นความสำเร็จจากไดอารี่ทั้งหลาย  ได้เห็นหนังสือต่างๆ ที่เขาช่วยชีวิตพวกมันไว้ใช้ประกอบการสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ  ฉันเขียนเรื่องของเขาในไดอารี่เล่มที่หก
สิ่งที่เรื่องนี้ชี้แนะก็คือผู้พิมพ์ที่เกี่ยวข้องทางการค้าทั้งหลายที่กำลังร่วมมือกันดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่น่าจะประคับประคองบรรดานักเขียนแนวทดลองและแนวค้นคว้า  เหมือนกับธุรกิจที่ช่วยค้ำจุนนักวิจัยโดยไม่คาดหวังสิ่งที่ใหญ่โต  หรือผลกำไรอย่างทันทีทันใดจากพวกเขาเหล่านั้น  พวกเขาได้ประกาศทัศนคติ, จิตสำนึก และวิวัฒนาการใหม่ๆ  ในรสนิยมและจิตใจของผู้คน  พวกเขาเป็นนักวิจัยผู้ค้ำจุนอุตสาหกรรม  ทุกวันนี้งานของฉันได้สอดประสานกลมกลืนกับค่านิยมใหม่ๆ  การค้นหาแบบใหม่  และสถานภาพทางจิตใจของพวกหนุ่มสาว  การทำให้เข้ากันได้นี้คือสิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครสามารถมองเห็นได้ล่วงหน้า  นอกจากด้วยวิธีเปิดใจออกรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ และการริเริ่ม





บทความวรรณกรรมจากนิตยสาร “ไรเตอร์”  ปีที่ 3 ฉบับที่ 31
(ไม่ทราบผู้แปล)