วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ชีวิตเปลี่ยน
ศริติ ภูริปัญญา แปลจาก The Jungle
โดย Upton Sinclair สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๕๑๒ หน้า ราคา ๓๕ บาท
(อำนวยชัย ปฎิพัทธเผ่าพงศ์ เจ้าของบทความใน มาตุภูมิ ปีที่ 7,30 มกราคม 24,ฉบับที่ 1047)

            หนังสือเล่มนี้พากข้อความ “วรรณกรรมแนวสัจนิยม” ไว้ที่ปกหน้า แม้ว่าในความนำ คำนำของสำนักพิมพ์และคำนำของผู้แปล จะไม่มีคำใดๆอธิบายให้ความกระจ่างเกี่ยวกับคำที่ใช้นี้แต่อย่างใดก็ตาม กระนั้นสำหรับผู้ที่เป็นนักเลงหนังสือ  เรื่องแปลหรือผู้สนใจงานวรรณกรรม ซึ่งไม่ประสงค์จะอ่านหนังสือ เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว คงพอจะจับเค้าได้ลางๆอยู่บ้างว่าแนวสัจนิยมนั้นเป็นเรื่องประเภทไหน
                โดยเฉพาะในความนำที่ว่า “ซินแคร์ บรรยายไว้อย่างหมดเปลือกทุกซอกทุกมุมของโรงงาน(ฆ่าสัตว์ที่)พระเอกยูกีส(ทำงานอยู่)อยู่ไปอยู่ไปในอเมริกาก็ต้องสูญสิ้นหมดทุกอย่าง ตั้งแต่พ่อ, เมีย, ลูก  ตัวเองติดคุกติดตะราง  ในที่สุดเหลือแต่ตัวคนเดียวเดินท่อมๆไปอย่างไร้ความหวัง  และในช่วงที่เขากำลังจะหมดลมปราณ  เพราะไม่มีแม้แต่อาหารตกถึงท้องนั้น  เขาก็ไดพบและประจักษ์ว่า สังคมนิยมเท่านั้นที่จะสร้างโลกใหม่ชีวิตใหม่ให้แก่เขา”
                ข้อความในความนำนั้นเป็นการสรุปแก่นเรื่องของ “ชีวิตเปลี่ยน” ได้อย่างกะทัดรัด  ด้วยเนื้อเรื่องในหนังสือเล่มนนี้ เป็นชีวิตของครอบครัวชาวลิทัวเนียที่อพยพไปหา “ชีวิตที่ดีกว่า”  ในอเมริกาเมื่อประมาณแปดสิบปีที่แล้ว  แต่ทั้งหมดที่เขาประสพร่วมกับผองเพื่อนผู้อพยพอื่นๆก็คือความลำบากยากแค้น  มีชีวิตเพียงเพื่อจะอยู่ทำงานในอีกหนึ่งวันเท่านั้น  พวกเขาถูกขูดรีด, คดโกง, ข่มเหงบีฑาสารพัดสารพันและแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยหวังก็พินาศไปสิ้น  โดยไม่มีทางเข้าใจหรือตอบโต้กลับแต่อย่างใด
                ถ้าหนังสือเล่มนี้สมควรจะได้รับขนานนามว่าเป็นแนวสัจสังคม  ทั้งๆที่มีโครงเรื่องอย่างสั้นๆและง่ายๆ  ชนิดที่ผู้อ่านอาจจะคาดเดาได้จนจบแล้วล่ะก็  น่าจะอยู่ที่วิธีเดินเรื่อง  ซึ่งผู้เขียนใช้การบรรยายเป็นส่วนใหญ่  แทบจะกล่าวได้ว่า  ทุกบททุกตอนของการบรรยายไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันที่แสนจะทุกข์เข็ญ  ความสัมพันธ์ในครอบครัว  ความนึกคิด  อารมณ์และจิตใจของตัวละครนั้น  ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง
                บทสนทนาที่ปรากฏในเรื่องนั้น  นับได้ว่าน้อยและไม่ใช่เครื่องเดินเรื่องที่สำคัญแต่อย่างใด  หากแต่สอดแทรกอยู่อย่างพอเหมาะกับอากัปกิริยาที่ตัวละครแสดงออก  ซึ่งสะท้อนให้เห็นบุคลิกได้อย่างชัดเจน  เหมือนมีเลือดเนื้อ  หรือมีตัวมีตนจริงๆ
                กล่าวคือ  คิดและทำอย่างที่คนซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นพึงคิดและพึงทำ  ดังเช่นที่ผู้แปลกล่าวไว้ในคำนำว่า  “ซินแคร์ยังวาดตัวละครให้เป็นปุถุชนจริงๆ  โดยเนื้อแท้แล้วคนยังมีความโลภความหลงผิดเหมือนกันทั้งสิ้น  ดังเช่น ยูกีสตัวเอก  ทั้งที่เคยลำบากอดอยากปิ่มว่าจะตายลงไปวันแล้ววันเล่า  แต่เมื่อมีโอกาสก็ยังเป็นเหยื่อนายทุน, ขูดรีด, คอรัปชั่นเอากับพวกตัวกันเอง”  ซึ่งไม่ใช่คำที่เกินจริงแม้แต่นิดเดียว
                ผู้เขียนสามารถบรรยายให้เห็นสภาพภายในโรงงานฆ่าสัตว์ที่นครชิคาโกจนทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนอยู่ในโรงฆ่าสัตว์นั้นเอง  ได้กลิ่นเหม็นคาวเลือดของวัว  ความสกปรกโสโครก  การเอารัดเอาเปรียบ  ของเจ้าของโรงงานที่ปลอมปนเนื้อเลว  ที่เสียแล้วบรรจุหีบห่อเสียใหม่  ซ้ำร้ายตีตราว่าเป็นเนื้อชนิดพิเศษ  และขึ้นราคาให้แพงกว่าปกติ
                สภาพที่คนงานต้องทำงานติดต่อกันกว่าวันละสิบหกชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก  และยืนแช่อยู่ในน้ำเลือดท่วมขา  การทำงานในโรงปุ๋ยที่เหม็นอย่างวายร้ายและกลิ่นเหม็นนี้จะล้างไม่ออกจนกว่าคนงานจะชินกับมันเอง  ด้วยอัตราค่าจ้างที่พอกันตาย  พร้อมที่จะถูกปลดออกจากงานอยู่ทุกขณะ  ในขณะที่ข้างนอกโรงงาน  ที่คนงานที่ร่างกายอ่อนแอกว่ายืนคอยงานอยู่เป็นฝูงใหญ่
                แต่โรงงานฆ่าสัตว์ย่อมไม่ใช่หน่วยเศรษฐกิจที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว  ดังนั้นเองผู้เขียนจึงชอบธรรมที่จะพาดพิงประณามระบบสังคมทั้งระบบ  โดยใช้โรงงานเป็นตัวอย่างและจุดเริ่มต้น  เช่น  การกินสินบาทคาดสินบนของตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งอื่นๆ  ระบบการเมืองที่ใช้การคุมคนเป็นชั้นๆ  โดยอาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจ  และในทางกลับกัน  คนรวยก็อาศัยความมั่งคั่งยึดกลไกรัฐไว้ในมือ  เพื่อเสริมสร้างอำนาจเงินตราอีกชั้นหนึ่ง
                ในภาวะเช่นนี้  คนจนและบรรดาผู้ที่ถูกเหยียบย่ำทั้งปวง  ดูจะมีทางเลือกอยู่เพียงสองทางเท่านั้น  ทางแรก  ปล่อยชีวิตไปตามชะตากรรมที่ขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่วัฏจักรทางเศรษฐกิจ  และในทางกลับกัน  คนรวยก็อาศัยความมั่งคั่งยึดกลไกรัฐไว้ในมือเพื่อเสริมสร้างอำนาจเงินตราอีกชั้นหนึ่ง
                ในภาวะเช่นนี้  คนจนและบรรดาผู้ที่ถูกเหยียบย่ำทั้งปวง  ดูจะมีทางเลือกอยู่สองทางเท่านั้น  ทางแรก  ปล่อยชีวิตไปตามชะตากรรมที่ขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่วัฏจักรทางเศรษฐกิจ  ถ้าเขาหรือหล่อนคนนั้นแข็งแรงพอที่จะต่อสู้  ช่วงชิงกับคนในชนชั้นเดียวกับตน  ซึ่งมีภาวะที่ไม่แตกต่างกันหรือย่ำแย่กว่า  เพื่อทำงานหาเงินมาประทังชีวิต  หรือไม่ก็ยอมจำนนกับมันเสีย
                หากเป็นผู้หญิง  ก็เหลือทางเลือกทางเดียวนั่นคือไปขายตัว  ถ้าเป็นเด็ก  ก็ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนไปเป็นกุ๊ยข้างถนน  อย่างที่เมียและลูกของยูกีสจำต้องทำ  หรือไม่ก็ร่อนเร่เป็นขอทางขอเขากินเรื่อยไป  ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท  อย่างที่ยูกีสทำ  อีกทางหนึ่ง  หากเขามีลู่ทางและใจกล้าพอก็อาจจะตอบโต้สังคมด้วยการเป็นโจร, นักฉกชิงวิ่งราว  กระทั่งฉวยโอกาสเข้าทำงานในโรงงานในขณะที่คนอื่นๆ เขานัดหยุดงานกัน ฯลฯ
                ทั้งหมดเป็นภาพสะท้องของสังคมอเมริกันอย่างชัดแจ้งที่สุด  หากภาพทั้งหมดที่ผู้เขียนบรรยายให้เห็นนั้นเป็นจริง  มันจะเป็นภาพที่แตกต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ  กับภาพยนตร์อเมริกันที่เราเห็นกัน  ในหนังโทรทัศน์จินตนาการเกี่ยวกับความเจริญมั่งคั่งของสังคมอเมริกันทั้งหมด  ล้วนตั้งอยู่บนหลังไหล่ของคนงานอย่างยูกีสและครอบครัวทั้งสิ้น
                โรงงานฆ่าสัตว์ที่ตัวเอกทำงานด้วยนั้นไม่ต่างอะไรกับสังคมอเมริกันในมุมกว้าง  ค่าที่รีดเค้นเอาแรงงานของเขาจนหมดสิ้นและก็ฆ่าเสีย  เช่นเดียวกับคนงานที่ฆ่าวัวและหมู  ซึ่งตลอดเวลาผู้เขียนได้วาดภาพคู่ขนานให้เห็นอย่างเจ็บปวดระหว่างพวกสัตว์ที่ถูกต้อนเข้าโรงงาน  กับคนที่ค่อยๆ ถูกโรงงานฆ่าสัตว์โรงเดียวกันนั้นเองฆ่าทีละเล็กละน้อยอย่างเลือดเย็น  พร้อมกับที่ถูกสังคมป่นเอาวิญญาณจนเป็นผุยผงซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
                สิ่งที่ผู้เขียนบรรยายได้อย่างสมจริงและดึงดูดให้ผู้อ่านติดตามได้ตลอดเวลาก็คือ  อารมณ์และความรู้สึกของตัวละครทั้งหลาย  ซึ่งตกอยู่ในวิกฤตการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า  เรื่องเริ่มขึ้นในงานกินเลี้ยงแต่งงานตามประเพณีของชาวลิทัวเนีย  ด้วยบรรยากาศสนุกสนานร่าเริง  แต่เพียงไม่กี่หน้ากระดาษ  เรากลับรับรู้อารมณ์ของตัวละครที่มีความสุขกึ่งวิตกกังวลกับค่าใช้จ่าย  ความดิ้นรนกระเสือกกระสน  และพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อบ้านสักหลัง  ในท่ามกลางความหวาดหวั่นว่าจะถูกนายหน้าค้าบ้านโกงเอา   ซึ่งในที่สุดก็ถูกโกงจริงๆ
                ความปวดร้าวเมื่อเห็นลูกเมียป่วย ในขณะที่ตนเองไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา  ความทุกข์ทรมาน  ขณะนอนหยุดงานเพราะขาแพลง  ความกลัวที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน  เช่น เด็กๆ ที่กลัวการไปทำงานเนื่องจากต้องเดินฝ่าพายุหิมะด้วยเสื้อผ้าที่หนาไม่พอ  ความกลัวว่าจะตกงาน  ทั้งที่พยายามทำงานดีที่สุด  แต่ก็ตกงานจนได้เพราะโรงงานปิดตัวเอง  เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำวิกฤตการณ์  ซึ่งในที่สุดก็ทำลายตัวของตัวเองลงอย่างสิ้นเชิง  ถ้าหาก...ถ้าหากไม่บังเอิญไปฟังคำปราศรัยของผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคสังคมนิยมเสียก่อน
                คำว่า “สังคมนิยม” ดูจะเป็นพรจากพระเจ้าที่มาช่วยยูกีสไว้ในวาระที่คับขันอย่างถึงที่สุด  ชะรอยผู้เขียนอาจจะนึกว่า  คงจะไม่ยุตธรรมนักหากจะปล่อยให้ชีวิตของยูกีส  ซึ่งเป็นตัวแทนของคนงานจำนวนมากในชิคาโกในสมัยนั้นต้องพ่ายแพ้  และตายไปอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก  และไม่เสนอทางเลือกที่สามให้แก่ผู้ถูกกดขี่ขูดรีดทั้งปวงนั่นคือ  การลุกขึ้นสู้  แม้ว่าผู้อ่านจะจับความไม่ค่อยได้นักว่า  ขบวนการลุกขึ้นสู้ของคนงานในชิคาโกเป็นอย่างไร  เพราะในฉากช่วงนี้  ผู้เขียนก็ยังจับเฉพาะพฤติการณ์ของพระเอกแต่ตัวเดียวอยู่  จนดูเหมือนว่ายูกีสเองก็ไม่เข้าใจกับการลุกขึ้นสู้ของคนงานอื่นๆ  หากเขาไม่ได้รับคำอธิบายจากพวกนักสังคมนิยม
                ดังนั้น  การจบเรื่องนี้ด้วยการให้ยูกีสรู้จักและรับเอาความคิดสังคมนิยมจึงเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  เว้นแต่ผู้เขียนจะจงใจปล่อยให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจในทางลบต่อภาพสังคมอเมริกันที่ร่ายมาตลอดเพียงสถานเดียว  ซึ่งผู้เขียนเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น  แม้ว่ากระบวนการรับเอาความคิดใหม่ของยูกีสนี้  จะทำอย่าง่ายๆ และไม่ประทับใจเท่าใดนัก  และทำให้รู้สึกได้ว่า  มีความสมจริงน้อยกว่าตอนอื่นๆ

                “ชีวิตเปลี่ยน” เป็นงานวรรณกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่สอดคล้องกับคำที่กล่าวว่า “วรรณกรรมเป็นเครื่องสะท้อนสังคม” นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผู้อ่านจริงจังทั้งหลาย  รวมทั้งผู้ที่ต้องการเข้าใจสังคมอเมริกันในยุคเมื่อแปดสิบปีที่แล้ว  โดยเฉพาะสังคมเมืองใหญ่ทางแถบตะวันออก  จะพลาดไม่ได้เป็นอันขาด  ทั้งสำนวนแปลก็ราบรื่น  เมื่อเทียบกับงานชิ้นก่อนของผู้แปลคนเดียวกันนี้   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น