จากหนังสือรวมเรื่องสั้น
“ข้าวแค้น” ของ
วัฒน์
วรรลยางกูร
ฉบับตีพิมพ์เมื่อ
พฤษภาคม ๒๕๒๒ โดย กลุ่มกุลา
คำนำ
ในปี ๒๕๑๙
บรรณโลกของกรุงเทพมหานครได้มีโอกาสจัดพิมพ์ “ตำบลช่อมะกอก” ของวัฒน์ วรรยางค์กูร นิยายเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้เขียนนามนี้
ได้เป็นที่สนใจและได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านอย่างกว้างขวางและคึกคักอย่างยิ่ง แม้ว่า
ในคำปรารภของผู้เขียนเองได้กล่าวไว้ว่า
งานเขียนขนาดยาวนี้เป็นเรื่องแรกและยังเต็มไปด้วยข้อบกพร่องก็ตาม แต่ในทัศนะของผู้เขียนรุ่นก่อนๆ
ก็ได้ให้ความสนใจและเอ็นดูต่อนักเขียนผู้เยาว์ผู้นี้อย่างมาก วัฒน์ วรรยางค์กูร
มีท่วงทำนองการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
คือการใช้ภาษาที่ง่ายๆ และก็ชวนติดตามอย่างเร่งเร้าเสมอ
รวมทั้งเสนอเรื่องราวที่สัมผัสแนบแน่นกับชีวิตการต่อสู้ และขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีของประชาชน
อนาคตของวัฒน์ทางด้านวรรณกรรรมจะแล่นโลดไปไกลอีกมากทีเดียว
เสียดายอย่างยิ่งที่เขาได้เขียนเรื่องไว้ไม่มากนักในระยะ ๑-๒
ปีก่อนกรณีสังหารโหด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
สังคมอันอัปลักษณ์เช่นนี้
ไม่ได้เป็นเวทีชีวิตที่เขาสามารถร่ายหรือกลั่นกรองเอาความรู้สึกและข้อมูลออกมาเป็นวรรณกรรมอย่างสะดวกและยืนยาว
วัฒน์จึงได้ตัดสินใจละทิ้งเวทีนี้ไปสู่ผืนแผ่นดินไทยที่ไกลออกไป
และที่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแก่เขาในการจะรจนาวรรณกรรมเพื่อประชาชนต่อไป
แต่เขากลับได้รับความอบอุ่นและโอบอุ้มจากชีวิตความเป็นจริงที่ทุกข์ยากและเต็มไปด้วยภาพของการต่อสู้กับธรรมชาติและกับคนด้วยกันเองที่เหยียดหยามคุณค่าความเป็นคน
ดังนั้นเราจึงยังได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของเขาอีก
เราได้รวบรวมงานเขียนของวัฒน์
ซึ่งปรากฏหลังจากที่เขาได้ตัดสินใจไปใช้ชีวิตอีกแห่งหนึ่ง งานเขียนที่เราได้รวบรวมขึ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เป็นงานเขียนประเภทเรื่องสั้น ๑๑ เรื่อง
และการบันทึกเกี่ยวกับทัศนะของผู้เขียนในเรื่องการประพันธ์ เรื่องสั้นทั้ง ๑๑ เรื่องนี้
แต่ละเรื่องจะสะท้อนแง่มุมที่ต่างกันออกไปทุกเรื่องและชัดเจนในเนื้อหามากขึ้นกว่าแต่ก่อน
แต่ยังคงรัก(ษาเอกลักษณ์ของตนเองในการเสนอปัญหาและใช้ภาษาที่ง่ายๆ
และเร้าใจผู้อ่านเช่นเดิม
เราไม่มีอะไรจะกล่าวมากมายนัก
เพราะว่าต้องการให้ผู้อ่านลิ้มรสวรรณกรรมเรื่องสั้นที่ดีเด่นของวัฒน์โดยเร็วที่สุด แต่กระนั้น
งานวรรณกรรมก็ยังคงเป็นแนวรบด้านหนึ่งของการต่อสู้เพื่อสิ่งใหม่ที่งดงามกว่าและมีคุณค่ายิ่งกว่า และแนวรบด้านนี้ก็ไดมีคนมาแบกรับมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศรีบูรพา, บรรจง บรรเจิดศิลป์,
อิศรา อมันตกุลหรือจิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ
และแนวรบนี้ก็ได้เสียดแทงตีความเจ็บปวดแก่ผู้ปกครองที่เอาเปรียบคนจนอย่างได้ผลมาแล้ว วันนี้เราได้พบกับวัฒน์ วรรยางค์กูร
นักเขียนหนุ่มที่มีความศรัทธาและความสามารถที่ดีเด่น แต่เราก็ปรารถนาจะได้พบบุคคลเช่นวัฒน์อีกหลายๆ
คน จากผู้อ่านนี่แหละ
ท่านล่ะได้ตัดสินใจจะมาเข้าร่วมกับบันทึกประวัติศาสตร์บทใหม่แก่คนไทยแล้วหรือยัง?
ด้วยความคารวะจากเรา
กลุ่มกุลา
ภาคผนวก
จากบันทึกของ “นักเขียนคนหนึ่ง”
หมายเหตุ
:
บันทึกชิ้นนี้ประกอบด้วยทัศนะของผู้เขียนในประเด็นต่างๆ
เกี่ยวกับการทำงานเขียน
นับตั้งแต่ปัญหาทำงานเพื่อใคร, การหาวัตถุดิบ, เข็มทิศชี้นำในการเขียน,
ปัญหารูปแบบกับเนื้อหา, การเตรียมพร้อมในการทำงาน, การใช้ชีวิตของนักเขียน
และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านกับคนเขียน
อันเป็นทัศนะอีกแง่หนึ่งของคนเขียนหนังสือร่วมสมัยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการค้นคว้าทางด้านวรรณกรรม
ปัญหาพื้นฐานคือทำงานเพื่อใคร
นักทฤษฎีทางศิลปะวรรณคดีหลายคนสรุปไว้ว่าปัญหาสำคัญที่สุดของศิลปินนักเขียนคือ
ปัญหาเพื่อใคร? ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง
และเห็นด้วยอย่างยิ่งต้อความเห็นที่ว่านักเขียนหรือศิลปินควรมีสำนึกว่าตนเองทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน ดังที่ศรีนาครเขียนไว้ว่า “ศิลปะทั้งผองต้องเกื้อเพื่อชีวิต ของมวลมิตรผู้ใช้แรงงานทุกแห่งหน ใช่เพื่อศิลปะอย่างที่นับสัปดน ใช้เพื่อตนศิลปินชีวินเดียว” ในสภาวะที่เป็นจริงของสังคมไทยเบื้องหน้านี้คือ
รับใช้กรรมกรชาวนาอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศในการต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีด
รับใช้ประชาชาติไทยในการต่อสู้กับอิทธิพลของมหาอำนาจผู้รุกราน
รับใช้ผู้รักสิทธิเสรีภาพในการต่อสู้คัดค้านเผด็จการฟัสซิสต์
จิตสำนึกเช่นนี้เกิดขึ้นได้ท่ามกลางการต่อสู้ที่เป็นจริง
แน่นอนว่า
ย่อมแตกต่างจากเป้าหมายของการทำงานอีกแบบหนึ่งคือ ๑. เกียรติ
สร้างผลงานเพียงเพื่อใช้งานเป็นบันไดก้าวไปสู่เกียรติยศที่คับแคบเฉพาะตน หรือ ๒. เพื่อเงินตรา ยอมให้อำนาจเงินกำหนดความคิดทุกสิ่งทุกอย่าง
ทุกวันนี้มีนักเขียนไม่ว่าจะเป็นรุ่นอาวุโสหรือรุ่นใหม่ๆ
ได้มองเห็นและเข้าใจได้ว่า
นักเขียนจะต้องทอดตัวเข้าไปสร้างผลงานรับใช้ประชาชน
เราจะมามัวคิดถึงประโยชน์ส่วนตนอยู่ได้อย่างไร
ในเมื่อกรรมกรชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศกำลังอดอยากปากหมอง ทุกข์ยากแสนสาหัส
เราจะมามัวคิดถึงประโยชน์ส่วนตนอยู่ได้อย่างไร
ในเมื่อเสือร้ายและหมาป่า-มหาอำนาจผู้รุกรานกำลังแย่งขย้ำเอกราชและความเป็นไทของประชาชาติไทย
เราจะมามัวคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวอยู่ได้อย่างไร
ในเมื่อบ้านเมืองเราเป็นค่ายกักกันและขุมนรกอันมืดมน โดยฝีมือของเผด็จการฟัสซิสต์
การจะสร้างสรรค์ผลงานรับใช้ประชาชนได้ดีหรือไม่ เป้าหมายการทำงานเป็นพื้นฐานสำคัญ ถ้ามีเป้าหมายเพื่อส่วนตัว ย่อมไม่อาจทำงานเพื่อส่วนรวม เพราะมันไปด้วยกันไม่ได้ และจะเสแส้รงก็ย่อมไม่ได้ งานเขียนที่ดีไม่อาจเสแสร้งเขียนขึ้นมาได้
น้ำตาปลอมของนางเอกหนังไทยบางเรื่องไม่อาจทำให้คนดูสะเทือนใจได้อย่างแท้จริง ไม่อาจเสแส้รง
หากต้องถอดออกมาจากชีวิตจิตวิญญาณแท้จริงทุกตัวอักษร ทุกบรรทัดย่อมสะท้อนจุดมุ่งหมายของผู้เขียน
ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ได้มีนักขเยีนของประชาชนก้าวไปบนเส้นทางเกียรติยศแห่งการรับใช้ประชาชนภายใต้สภาพที่ยากลำบากคือ อยู่ใต้เงาปืนของเผด็จการฟัสซิสต์ หลายคนเสียสละเกียรติยศจอมปลอม เสียสละช่องทางแห่งการกอบโกย มาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อประชาชน บางคนไดพิสูจน์ให้เห็นว่า
เขาไม่เสียดายแม้จะเสียสละชีวิตอันมีค่า(มีค่าเพราะเป็นชีวิตของคนที่ทำงานเพื่อส่วนรวม)
สร้างแบบอย่างอันสูงส่งแก่นักเขียนรุ่นหลังและมวลชนนักต่อสู้
ทุกวันนี้อุดมการณ์ของนักเขียนเพื่อประชาชนนับวันแข็งกล้า แผ่ขยาย
ผลงานสร้างสรรค์นับวันมีพลัง
ไม่ว่าจะมีความยากลำบากอย่างไร
สามารถยืนหยัดสร้างผลงานได้ถึงที่สุด
การุดหน้าไปอย่างย่อท้อ
มีบทกวีบทหนึ่งที่สะท้อนอุดมการณ์เช่นนี้อย่างลึกซึ้งว่า
เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจะสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน
นักเขียนต้องกล้า
ชีวิตการต่อสู้ของประชาชนมีเรื่องราวอยู่มากมาย เป็นเสมือนวัตถุดิบของโรงงานสมองและปากกา เป็นต้น
ธารของศิลปะวรรณคดีอันอุดมสมบูรณ์
เมื่อต้องการวัตถุดิบ
ต้องการสร้างสรรค์ศิลปวรรณคดีก็ต้องกล้าบุกเข้าไปให้ถึงแหล่งวัตถุดิบ ให้ถึงต้นธารของมัน เมื่อนักเขียนจะไปสัมผัสชีวิตของประชาชน ก็ต้องใช้ความกล้าระดับหนึ่ง
หรือเดิมทีบางคนมีเงื่อนไขในการสัมผัสสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่พอตั้งใจจะสัมผัสขึ้นมา ก็ต้องรวบรวมความกล้าเช่นกัน หรือแม้แต่การจะนั่งรถผ่านๆ
มองคนจนด้วยความเห็นอกเห็นใจ
ก็ต้องใช้ความกล้าอีกเหมือนกัน
ที่พูดเช่นนี้เพราะบางคนไม่กล้าแม้แต่จะเห็นใจคนยากคนจน(เห็นใจจริงๆ
ไม่ใช่หลอกๆ)
เหลียวไปเห็นชาวนาแว่นหนึ่งก็สรุปทันทีว่า “ชาวนาขี้เกียจ”
อะไรทำนองนี้
เขาไม่กล้าเพราะมันขัดผลประโยชน์ของเขา
ยิ่งถ้านักเขียนตัดสินใจจะใช้ปากกาของตนเป็นส่วนหนึ่งแห่งการต่อสู้ของประชาชน ก็ยิ่งต้องใช้ความกล้ายิ่งขึ้นอีก กล้าจะท้าทายอิทธิพลของมหาอำนาจผู้รุกราน กล้าท้าทายอำนาจของเผด็จการฟัสซิสต์
กล้ากบฏต่อความสะดวกสบายที่มีอยู่เดิมไปสู่สภาพใหม่ที่ยากลำบากกว่าเก่าเพื่อเข้าถึงต้นธารของศิลปวรรณคดี
เพื่อจะได้ทำงานสร้างสรรค์อย่างมีชีวิตชีวา
ปลุกผู้ถูกกดขี่ให้ลุกขึ้นมาพบแสงแห่งสัจจะ เหล่านี้เป็นความกล้าที่ประชาชนต้องการ
การหมกตัวเป็นกวีราชสำนัก ไม่ยอมรับรู้โลกกว้าง มีแต่สายตาจะสั้น ความคิดจะแคบลง ไหนเลยจะสร้างผลงานรับใช้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ มีแต่ต้องกล้าบุกกล้าผจญ กวีสมัยก่อนเขียนเป็นฉันท์ไว้ว่า “จงจรเที่ยว เที่ยวบทไป
พงพนไพร ไศลลำเนา” คือส่งเสริมให้ท่องเที่ยวไปพบสิ่งใหม่ และยังมีบทกวีของต่างประเทศว่า “อินทรีโผบินไปในนภา มัจฉาแหวกว่ายกลางสายชล” คือส่งเสริมให้ไปฝ่าคลื่นลม หากเรามีเป้าหมายว่าจะทำงานรับใช้ประชาชน
การออกไปฝ่าคลื่นลมย่อมหมายถึงไปพบบทเรียนแห่งการต่อสู้ในชีวิตของประชาชน ไม่ใช่ผจญภัยเพียงเพื่อพิสูจน์ความเป็น “แมน”
ของข้าอย่าง “สิงห์เท็กซัส”
และเมื่อมั่นใจว่าต้องทำงานเพื่อประชาชนไปตลอดชีวิต
ก็ต้องกล้าบุกกล้าผจญตลอดชีวิตเช่นกัน
ส่วนรูปธรรมการทำเช่นนี้ก็ต้องแล้วแต่สภาพความเป็นจริงของแต่ละบุคคล
การกล้าศึกษาสิ่งใหม่ๆ
กล้าสัมผัสแนวคิดที่ขัดแย้งกับความคิดที่เรายึดมั่นอยู่เดิม กล้าบุกกล้าผจญไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
อยู่เสมอเป็นเงื่อนไขช่วยให้หูตาเรากว้างไกล
ความคิดพัฒนาสดชื่นอยู่ไม่ขาด
ความคิดเก่าสิ้นอายุไป
ความคิดใหม่เกิดขึ้นมา
มีแต่ต้องอยู่ท่ามกลางความเคลื่อนไหว
จึงจะมีการพัฒนา
การรับรู้ ทำความเข้าใจชีวิตที่เป็นจริง
บางด้านบางเรื่องต้องใช้เวลาสะสมยาวนานพอสมควร มิใช่จะสุกงอมเอามาเขียนได้ทันที
ในการเผชิญคลื่นลมมีทั้งเรื่องราวที่เขียนออกมาเป็นตักอักษรบนกระดาษได้ทันที และที่เขียนไว้ในใจ
มีเข็มทิศในการทำงาน ประสานทฤษฎีกับรูปธรรม
เมื่อเราทบทวนอ่านไดอารี่เก่าๆ
ก็มักรู้สึกเหนียมอาย
และได้แต่คิดว่า
ทำไมเราอ่อนหัดน่าขันเช่นนั้น
เพื่อนนักเขียนบางคนนั่งฉีกผลงานเก่าๆ ของตนเองด้วยความรู้สึกว่า
“ทำไมต้องเสียเวลานั่งเขียนเรื่องห่วยๆพรรค์นั้น”
แต่ว่ามันก็คือความเป็นจริง
ถ้าไม่มีวันนั้น
ก็คงไม่มีวันนี้
มีอดีตจึงมีปัจจุบัน
ต่ออดีตเรามีบทเรียน
แต่อนาคตเราก็ยังอ่อนหัดอยู่ดี
เพราะโลกเปลี่ยนไป สิ่งใหม่ที่เรายังไม่รู้จักเกิดขึ้นเสมอ แต่เราก็พอจะลดความสะเปะสะปะในอนาคตลงได้ ถ้าเรามี “เข็มทิศ” ชี้ทางเดิน
ผมเองก็เช่นกัน เคยสะเปะสะปะเหมือนคนตาฟาง
เขียนไปตามที่ตัวเองนั่งคิดเอาว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นมันน่าจะเป็นอย่างนี้ อาจจะเรียกได้ว่า “ชี้นำการเขียนด้วยอัตวิสัย” ซึ่งมีทั้งเข้าท่าและไม่เข้าท่า แต่ส่วนมากจะไม่เข้าท่า
ตัวละครที่เราเขียนถึงแต่ก่อนจึงไม่ค่อยเหมือนคนจริงเท่าไรนัก แต่เป็นหุ่นที่เราปั้นขึ้นมา ตัวละครที่เป็นชาวนา ไม่ได้พูดคิดหรือกระทำอย่างชาวนาจริงๆ แต่กลับไปเหมือนคนเขียนก็มี และเมื่อค้นคว้าลงไปอีกทีก็พบว่าตัวเองขาดการนำทฤษฎีทางสังคมการเมืองและศิลปวรรณคดีมาใช้
ในความเป็นจริง
ภารกิจทางวรรณกรรมจักต้องสัมพันธ์อย่างสนิทแน่นแฟ้นกับภารกิจด้านอื่นๆ
ที่สำคัญคือสังคมการเมือง-เศรษฐกิจ
ทฤษฎีสังคมการเมืองที่ว่าคือทฤษฎีของฝ่ายประชาชน มีเนื้อหาก้าวหน้า
การซึกษาปรัชญาที่ก้าวหน้าช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ที่สับสนซับซ้อนของโลกและชีวิต
การศึกษาเศรษฐศาสตร์ของประชาชนช่วยให้เข้าใจระบบกลไกแห่งการขูดรีดที่คนส่วนน้อยกระทำต่อคนส่วนใหญ่
การศึกษาประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้นของประชาชน ช่วยให้มองเห็นพลังประชาชน มองเห็นทางออกที่สดใส
และการศึกษาทฤษฎีทางศิลปะวรรณคดีช่วยให้เรามองเห็นลู่ทางในการทำงานสร้างสรรค์มากขึ้น
การศึกษาทฤษฎีเป็นเพียงการรับรู้ขั้นต้น ยังไม่เกิดความเข้าใจที่แท้จริง แต่เมื่อได้นำไปใช้ในการทำงาน การต่อสู้
นำไปประสานกับรูปธรรมที่พบเห็นในการ “กล้าบุกกล้าผจญ” นั่นแหละจึงจะค่อยเข้าใจขึ้นมา
เช่น
ปรัชญาวิภาษวิธีแห่งวัตถุนิยม
ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่ว่า “หนึ่งต้องแยกเป็นสอง”
ถ้านำไปใช้วิเคราะห์สภาพความเป็นจริงที่เราพบเพื่อแปรเป็นงานเขียน ก็จะช่วยให้การกุมเนื้อหาของเรื่องสอดคล้องกับความเป็นจริง มีชีวิตชีวา
ตัวละครก็มีลมหายใจ มีสมอง
ความคิดและกิริยาท่าทางของตัวละครก็มีลักษณะเคลื่อนไหว
เปลี่ยนแปลงพัฒนาโดยตลอดตามสภาพเงื่อนไขภายนอก และปัจจัยภายในของตัวละครนั้นๆ มีภาพสองด้านของตัวละครตัวหนึ่ง
การทำงานเขียนสร้างสรรค์เป็นการเอาภาพความจริงมาดัดแปลง ปรุงแต่งต่อเติมบนพื้นฐานของความเป็นจริง และส่วนที่เราคิดต่อเติมนี้อาจมีแนวโน้มไปทาง
“อภิปรัชญา” ได้ลักษณะด้านเดียว โดดเดี่ยว ผิวเผิน
และหยุดนิ่งโผล่หางออกมาให้เห็นได้ไม่ยาก
เช่นวางโครงเรื่องไว้ว่า ตอนจบ คุณแมนสรวงจะต้องเป็นคนดี(หลังจากตีหน้ายักษ์ตลอดเรื่องจนเมื่อยหน้า) พอเขียนไปถึงตอนที่ ๕๐๐ คุณแมนสรวงก็พูดว่า
“ผมรู้ตัวว่าทำผิดไปแล้ว
การกดหัวคนอื่นเป็นเรื่องไม่ดี
จงทำดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์”
แต่พอคนอ่านๆ
จบแล้วไม่เชื่อว่าคุณแมนสรวงถูกเขียนบังคับให้พูดเช่นนั้น ผลคืองานเขียนชิ้นนั้นขาดพลังปลุกเร้าใจให้คนอ่านเชื่อถือ รู้สึกไม่สมจริง
ผู้เขียนก็เสียท่าให้ “อภิปรัชญา” บ่อยๆ
เช่นวางโครงเรื่องตามที่ตนต้องการอย่างเดียว
หรือปล่อยโครงเรื่องไปตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจนคนอ่านจับอะไรไม่ได้ หรือยัดเยียดคำพูดก้าวหน้าอย่างยิ่งใส่ปากตัวละครที่ล้าหลัง หรือเชิดชักบทบาทล้าหลังให้ตัวละครที่น่าจะก้าวหน้ากว่านั้น เห็นปรากฏการณ์หดหู่มากๆ
ก็เขียนแต่ด้านหดหู่จนกลายเป็นบั่นทอนกำลังใจคนอ่าน หรือไม่ก็ “ปล่อยไก่” ให้ตัวละครที่ว่าเป็นชาวนาทำอะไรที่ชาวนาเขาไม่ทำกัน
เช่นให้แม่แสดงความเอ็นดูลูกสาวด้วยการจับปลายคางลูกสาว
มีคำพูดเหลวไหลที่ว่า
นักศึกษาทฤษฎีทางสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจมาก งานเขียนจะกระด้าง เพราะความจริงมันตรงกันข้าม
นักเขียนที่คับแคบและลุ่มหลงตนเองบางคนยังอุตส่าห์แสดงความเห็นของเธอว่า
“อเมริกาแกล้งแพ้ในสงครามอินโดจีน” ความเห็นเช่นนี้ถ้าแสดงออกในงานเขียน
จะทำให้งานเขียนอ่อนโยนหรือแข็งกระด้างเล่า?
ถ้าไม่เข้าใจทฤษฎีทางสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจ หรือรู้งูๆ ปลาๆ นั่นแหละโอกาสที่จะ
“แข็งกระด้าง” ยิ่งมีมาก
จิตร ภูมิศักดิ์
ศึกษาภาษาศาสตร์อย่างลึกซึ้งจนถึงรู้ความเป็นมาของถ้อยคำภาษา เขาจึงมีภาษาอันอุดมสมบูรณ์ที่จะมาเขียนหนังสือให้อ่านง่ายๆ
กะทัดรัด ได้อารมณ์เป็นนายของภาษา แต่คนที่ศึกษาภาษาศาสตร์งูๆ ปลาๆ
แล้วพยายามจะใช้ถ้อยคำศัพท์แสงโอ่ๆ อ่าๆ โดยไม่เหมาะกับความหมายของมัน ก็ทำให้งานเขียนอ่านยาก
ที่พอจะเปรียบเทียบกับการศึกษาทฤษฎีทางสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจได้
ผมเชื่อมั่นว่า การจะทำงานสร้างสรรค์วรรณกรรมให้ได้ดี
มีแต่ต้องศึกษาทฤษฎีที่ก้าวหน้าประสานกับการปฏิบัติที่เป็นจริง มีทั้งเศรษฐศาสตร์ในหนังสือและเศรษฐศาสตร์ในท้องนา ให้มันฝังลึกอยู่ในจิตสำนึก มีใช่เป็นเพียงเนคไทประดับหน้าอก หรือดาบอาญาสิทธิ์ของเอกชนเที่ยวฟาดฟันโดยไม่รับผิดชอบ แต่เป็นดาบอันคมกริบในมือของประชาชน
เมื่อมีเข็มทิศชี้นำการทำงาน
ก็ช่วยให้มองเห็นวิถีทางการสร้างสรรค์ชัดเจนว่าจะรับใช้ใครจะทำอย่างไร การเลือกเนื้อหา แง่มุมในการเขียนทำได้ตรงเป้าขึ้น คนอ่านย่อมต้อนรับ ในยุคสมัยหนึ่งๆ มันจะมีเรื่องราวบางอย่างอยู่ในหัวใจของมวลชน
การศึกษาทฤษฎีที่ก้าวหน้าทั้งทางสังคมและวรรณคดี
ช่วยให้เห็นประตูทางเข้าไปนั่งในหัวใจของมวลชน สามารถสะท้อนเรื่องราวต่างๆ
ออกมาอย่างชีวิตชีวา
และในงานเหล่านี้ก็จะมีงานบางชิ้น
เป็นตัวแทนอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันของคนในยุคสมัย
ทำหน้าที่เป็นเสมือนจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ถึงคนรุ่นหลัง
รูปแบบกับเนื้อหา
งานเขียนชิ้นหนึ่งๆ
มีส่วนประกอบสำคัญ ๒ ส่วน
คือเนื้อหากับรูปแบบ
เนื้อหาคือเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนในด้านและแง่มุมต่างๆ
ที่ผู้เขียนมุ่งหมายสื่อสารถึงผู้อ่าน รูปแบบเป็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้อ่านได้รับเนื้อหาอย่างเต็มที่ ในการเขียนหมายถึงจะเขียนแบบใด(ร้อยแก้ว ร้อยกรอง) จึงจะเหมาะสมกับเนื้อหา ใช้ท่งทำนองการเขียนแบบใด(ถ้อยคำสำนวน การลำดับความหรือการดำเนินเรื่อง ลีลาการเสนอเรียบๆ
หรือผาดโผนตามสภาพของเนื้อหา)
งานเขียนชิ้นหนึ่ง
เนื้อหาเป็นด้านหลักเพราะมันคือเป้าหมายของผู้เขียนเป็นเบื้องต้นที่จะกำหนดว่างานเขียนชิ้นนั้นจะใช้ได้หรือไม่ ส่วนรูปแบบเป็นด้านรอง มันเป็นสะพานให้เนื้อหาข้ามไปถึงคนอ่าน
ดังนั้นนักเขียนของประชาชนจึงทุ่มเทพลังกายพลังใจในการค้นคว้าเนื้อหามากกว่า แต่ก็ไม่ทอดทิ้งการค้นคว้ารูปแบบ เพราะไก่งามเพราะ(มี)ขน(เป็นส่วนประกอบ) ถ้าไก่ไม่มีขนกลายเป็นความทุเรศตา
ในกรณีที่งานเขียนชิ้นหนึ่งมีเนื้อหาที่รับใช้ประชาชนแล้ว
รูปแบบก็อาจขึ้นมาอยู่ในฐานะปัจจัยชี้ขาดได้เหมือนกันว่างานเขียนชิ้นนั้นจะรับใช้ประชาชนได้ดีหรือไม่
ผมเห็นด้วยที่มีคนกล่าวว่าถึงเนื้อหาจะดีหากรูปแบบเป็นอุปสรรคก็ไม่อาจเข้าถึงคนอ่าน ในทางตรงกันข้าม หากเนื้อหาไม่ดี ถึงรูปแบบจะดีเพียงใด ก็เหมือนไก้เน่าขนงาม เพียงได้กลิ่นก็โยนลงถังขยะได้เลย
ที่ว่าเนื้อหาดี คือดีในความหมายของคนส่วนใหญ่คือกรรมกรชาวนา ดีในความหมายของประชาชาติไทย เป็นเนื้อหาคัดค้านการกดขี่ เชิดชูผู้ใช้แรงงาน คัดค้านการรุกราน สดุดีการต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตย แสดงบทบาทสัมพันธ์กับภารกิจด้านอื่นๆ
ในสังคมอย่างสนิทแน่นแฟ้น
รูปแบบที่ดีคือรูปแบบที่สอดคล้องกับเนื้อหาข้างต้น เหมาะสมกับคนอ่านกลุ่มนั้นๆ
ที่เป็นเป้าหมายช่วยให้ผู้อ่านได้รับเนื้อหาเต็มที่
ตัวผู้เขียนเองเป็นผู้ทำงานศิลปวัฒนธรรมที่มาจากปัญญาชน สภาพความเป็นจริงของการศึกษา การดำรงชีวิต
ค่อนข้างห่างเหินชีวิตที่เป็นจริงของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ฉะนั้นจุดอ่อนที่แสดงออกในการทำงานเขียนจึงมีทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบ
ขาดความเข้าใจในชีวิตการต่อสู้ทางการผลิต-ทางสังคมของประชาชน
ขาดความเข้าใจในท่วงทำนองการเล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายๆ แบบชาวบ้าน
ขาดความเข้าใจอันลึกซึ้งในภาษาที่มีชีวิตชีวาของกรรมกรชาวนา การจะแก้จุดอ่อนนั้นเห็นจะได้โดยต้องมีเป้าหมายการทำงานที่ถูกต้อง
เข้าร่วมต่อสู้คลุกคลีทำความเข้าใจชีวิตที่เป็นจริงของคนส่วนใหญ่
เตรียมให้พร้อม ประกันชัยชนะ
ช่างก่อสร้างย่อมมองเห็นบ้านสำเร็จรูปทั้งหลังตั้งแต่เริ่มลงเสาบ้าน
ก่อนลงมือเขียน ผมเห็นว่าเราควรมีภาพสมบูรณ์ขั้นสุดท้ายอยู่ในสมอง มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าจะแสดงเนื้อหาอะไร มองเห็นฉาก
มองเห็นใบหน้าตัวละคร
และมองเห็นจังหวะก้าวคร่าวๆ ว่า ตัวละครแต่ละตัวจะแสดงบทบาทไปในแนวไหน มีจุดหนักจุดเบาในการดำเนินเรื่องอย่างไร
และโครงเรื่องที่วางไว้ก่อนย่อมพลิกแพลงไปได้ตามสภาพที่เหมาะสมในกรณีที่ค้นพบประเด็นใหม่ที่เหมาะสมกว่า
ถ้าการเตรียมข้อมูล เตรียมเค้าโครงดี เวลาที่ลงมือเขียนจริงๆ
ก็ไม่น่าจะยืดเยื้อเกินไป
เช่นเดียวกับการคลอดลูกย่อมสั้นกว่าเวลาตั้งครรภ์
เรื่องสั้นหรือบทกวีดีๆ
บางชิ้นอาจใช้เวลาเขียนไม่มาก
ทว่าได้ผ่านการสะสมประสบการณ์และข้อมูลมาเป็นปี
ปัญหาที่พบในการเขียนหนังสือ ถ้าขาดการเตรียมพร้อม งานชิ้นนั้นก็อาจล้มกลางคัน
หรือเขียนไปก็จืดชืดคลุมเครือจนอาจเกิดความผิดพลาดทางเนื้อหา
น่าเห็นใจว่าในสังคมที่นักเขียนต้องทำงานแข่งกับค่าครองชีพ การต้องทำงานทั้งที่เตรียมไม่พร้อมนั้นเป็นไปได้ง่ายมาก การแก้ปัญหาพรรค์นี้คงต้องพูดกันยาว
โลกทรรศน์ชี้ขาดผลงาน
นักเขียนจะยืนหยัดในเป้าหมายการทำงานเพื่อมวลชนได้หรือไม่ หรือได้ดีหรือไม่ การใช้ชีวิตส่วนตัวเป็นปัญหาสำคัญทีเดียว การใช้ชีวิตส่วนตัวย่อมสัมพันธ์กับการทำงาน ส่งผลสะเทือนแก่กัน ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ พูดอีกแง่หนึ่ง
ชีวิตส่วนตัวของนักเขียนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เป้าหมายในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างไร งานเขียนก็สะท้อนออกมาอย่างนั้น
การทำงานสร้างสรรค์รับใช้ประชาชน จำเป็นที่นักเขียนต้องเข้าใจ ความคิดความเรียกร้องต้องการที่แท้จริงของประชาชน เข้าใจอารมณ์ความรู้สึก มีสำนึกอันละเอียดอ่อนร่วมกับพวกเขา
ดาราละครจะสวมบทบาทตัวละครได้ดีคือการทำให้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองกว้างขวางไม่ผูกมัดด้วยเอกชน รับบทอะไรก็ได้ที่รับใช้ประชาชน
นักเขียนจะทำงานได้ดีก็ต้องไม่ผูกมัดตัวเองด้วยความคิดเอกชน ออกห่างจากความคิดคับแคบตื้นเขิน
จึงจะสามารถสะท้อนทุกมิติของภาพและดิ่งลึกลงไปในวิญญาณของผู้ใช้แรงงาน จับธาตุแท้ของคนฐานะต่างๆ มาแปรเป็นตัวหนังสือ
คนอ่านน่ารัก คนเขียนคึกคัก
ในความเห็นของผม ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านกับคนเขียน มีสำคัญอยู่สองแบบ คือแบบที่หนึ่งความสัมพันธ์แบบการค้า
วรรณกรรมกลายเป็นสินค้าราคาถูกที่สร้างความร่ำรวยให้แก่ไม่กี่คน และคนอ่านก็ไม่ได้มีสติปัญญาเพิ่มเติมจากการอ่าน เป็นเรื่องน่าขมขื่นใจทั้งคนเขียนคนอ่าน แบบที่สองคือความสัมพันธ์ทางอุดมการณ์ เมื่อเรา(ไม่ว่าคนเขียนหรือคนอ่าน)
มีจุดมุ่งหมายทางความคิดร่วมกัน
เราต่างใช้ความถนัด
ความสามารถที่เรามีไปช่วยกันผลักดันให้จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจริงขึ้นมา ความสัมพันธ์เช่นนี้มีได้ทุกที่ๆ
มีการต่อสู้
คนอ่านกับคนเขียนเป็นเสมือนญาติสนิท
ได้เผชิญอุปสรรค ฝ่าพายุคลื่นลมร่วมกัน ความเอาใจใส่ถนอมรักกันย่อมเกิดขึ้น ต่างเข้าไปนั่งในหัวใจของกันและกัน
ความอบอุ่นที่ได้รับมีค่ามากกว่าค่าลิขสิทธิ์ไม่กี่พันบาท ค่าลิขสิทธิ์หมดแล้วอาจหาใหม่ได้ไม่ยาก แต่หากเมื่อใดเราทรยศผู้อ่าน ย่อมไม่มีความถนอมรัก ไม่มีความอบอุ่นจากผู้อ่าน มันคงเงียบเหงาและว้าเหว่มากไม่ใช่หรือ สำหรับคนเขียนหนังสือ แต่เรื่องเศร้าแบบนั้นไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ
มวลชนผู้อ่านให้โอกาสและให้ความเป็นธรรมแก่คนเขียนหนังสือเสมอ
นักเขียนที่เคยเดินสะเปะสะปะอย่างผมจึงเดินตรงทางขึ้นบ้าง โดยอาศัยผู้อ่านยื่นมือให้จูง ให้คำแนะนำ
ให้คำวิจารณ์เพื่อปรับปรุงงานเขียน สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า
เราน้อมใจพอหรือไม่ที่จะรับการช่วยเหลือจากคนอ่าน
ทั้งหมดนี้เป็นบันทึกจากการทำงานของนักเขียนคนหนึ่ง เป็นความคิดเห็นส่วนตัว เป็นบันทึกสำหรับเรียกร้องตนเอง สำหรับนักเขียนคนอื่นๆ ที่มีเงื่อนไข-สภาพความเป็นจริงแตกต่างกัน ก็อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ไม่อาจเรียกร้องให้เหมือนกันหมด อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะมีจุดใหญ่ๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะในปัญหาเพื่อใคร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น