วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2565

Jack Kerouac : จิตติ พัวสุทธิ

 

ภาพจาก 

https://www.famousauthors.org/jack-kerouac

ชื่อภาพ A symbol whose meaning is not uniformly understood … Jack Kerouac. Photograph: John Cohen/Getty Images

บทความชิ้นนี้เป็นของ จิตติ พัวสุทธิ และเจ้าของบล็อกนำมาเผยแพร่โดยไม่ได้ขออนุญาต


"ทุกสิ่งเป็นของฉัน เพราะฉันจน"

"ขีวิตคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทุกชั่วขณะคือความประทับใจ"

    12 มีนาคม 1922 ทารกน้อยคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นบนพื้นพิภพในนามของ จีน-หลุยส์ เคอรัวแอ็ก หากแต่ในเวลาต่อมาโลกขานรับเขาในนาม แจ็ก เคอรัวแอ็ก ผู้นำและโฆษกของเดอะบีต เจเนอเรชัน เจ้าของนวนิยายที่พลิกโฉมหน้าความฝันแบบอเมริกัน- ออน เดอะ โรด (On the Road)

    เช่นเดียวกับชนชั้นแรงงานชาวแคนาดา-ฝรั่งเศสในโลเวลล์ แมสซาชูเซตต์ส่วนใหญ่ ลูกชายคนสุดท้องของครอบครัวเคอรัวแอ็กใช้ภาษาฝร่ังเศสพื้นถิ่นได้คล่องปาก ก่อนที่เขาจะเจนจัดกับภาษาอังกฤษในฐานะเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์ เพื่อความมั่นคงของครอบครัวและต้องการลดภาระทางบ้าน แจ็กหวังจะสอบชิงทุนด้านการกีฬาเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและบ่ายหน้าต่อไปสู่ธุรกิจประกัน

    ในฐานะดาวเด่นทีมอเมริกันฟุตบอล ประกอบกับชัยชนะและถ้วยรางวัลที่ได้มาตลอดเวลาร่ำเรียนในไฮสกูล จงไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะได้รับเลือกให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก อนาคตสดใส ความฝันแบบอเมริกันดูเหมือนจะไม่ไกลเกินกว่าเขาจะไขว่คว้า

"คุณไม่อาจเกิดโดยปราศจากการมีอยู่ และคุณไม่อาจตายโดยปราศจากการเกิด"

    แต่แล้วราวกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกจัดวางไว้ แจ็กมีปากเสียงกับโค้ชผู้ฝึกสอน เขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมทีมอเมริกันของมหาวิทยาลัย ในเวลาเดียวกันนั้นเองครอบครัวของเขาประสบกับปัญหาล้มละลาย พ่อของเขากลายเป็นคนติดเหล้า ความสัมพันธ์ทางสายเลือดเริ่มจะร้าวฉานและภายในเวลาไม่นานนักก็เข้าสู่ภาวะวิกฤติ แจ็กตัดสินใจดร็อปการเรียน หวังจะเนรเทศตัวเองสู่ท้องเทะเลกว้างกับกองทัพเรือ (เวลานั้นสงครามโลกเพิ่มจะเริ่มต้น) หากแต่เขากลับสมหวังกับอาชีพพาณิชย์นาวีแทน เมื่อว่างเว้นจากงานในอาชีพ เขามักจะเตร็ดเตร่ไปทั่วนิวยอร์กกับบรรดาผองเพื่อนผู้ซึ่งพ่อแม่ไม่ให้การต้อนรับ อาทิ นักศึกษานอกคอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg), ลูเซียน คาร์ (Lucien Carr), และเพื่อนผู้สูงวัยจากย่านดาวน์ทาวน์ผู้มีบุคลิกแปลกแยกแตกต่าง วิลเลียม เอส. เบอร์โรวห์ส (William S. Burroughs) ตลอดจนคาวบอยหนุ่มจากเดนเวอร์ผู้ร่าเริง นีล แคสซาดี (Neal Cassady)

"ฉันแต่งงานกับนิยายของฉัน แล้วก็มีเรื่องสั้นเป็นลูกๆ "

     เดอะทาวน์ แอนด์เดอะซิตี (The Town amd The City) นวนิยายเรื่องแรกจากการสร้างสรรค์ของแจ็ก เคอรัวแอ็ก ได้รับแรงบันดาลใจจากนักเขียนระดับตำนานก่อนหน้าเขา โทมัส วูล์ฟ (Thomas Wolf) เนื้อหาบรรยายถึงความรวดร้าวที่เขาต้องเผชิญ เมื่อเขาพยายามรักษาสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตเถื่อนในเมืองใหญ่กับคุณค่าชีวิตแบบดั้งเดิมของครอบครัว เป็นเพราะบรรดาเพื่อนแล้วแต่ยอมรับในความสามารถทางด้านการเขียนที่เหนือกว่าของเขา ตลอดจนตกหลุมรักในตัวงานอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จึงพากันผลักดันให้คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียจัดพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม

    เดอะทาวน์ แอนด์เดอะซิตีอาจจะทำให้แจ็ก เคอรัวแอ็กได้รับการยอมรับในฐานะนักเขียน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายรวมถึงชื่อเสียงความโด่งดังแต่อย่างใดเลย

"ประจักษ์พยานของฉันมีก็แต่ท้องฟ้าอันว่างเปล่า"

"กระเป๋าเดินทางของเราอัดแน่นวางอยู่บนบาทวิถีอีกครั้ง หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกลนัก แต่จะไปยี่หระทำไมกัน ท้องถนนนั่นแหละชีวิต"

    เพราะต้องการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงจากผืนแผ่นดินกว้างทั่วถิ่นอเมริกัน แจ็กตัดสินใจควงคู่ นีล แคสซาดี ออกเดินทางข้ามประเทศพร้อมกับเริ่มงานเขียนชิ้นใหม่ไปในเวลาเดียวกัน เขาเริ่มต้นทดลอง วิธีแนวคิดแบบฉับพลัน (Spontaneous Prose) โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีการเขียนจดหมายของ นีล แคสซาดี



    เนื้อหาของนวนิยายเรื่องดังกล่าวบรรยายถึงเรื่องราวที่ได้พบได้เห็นมาในระหว่างการเดินทาง โดยไม่มีการตัดทอน แก้ไข ไหลหลั่งออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการพิมพ์ดีดต่อเนื่องลงม้วนกระดาษที่ไม่มีการตัดแบ่ง จนเกิดเป็นผลงานม้วนใหญ่ชิ้นสำคัญ ออน เดอะ โรด ผลงานชิ้นนี้นับได้ว่าเป็นการบุกเบิกวิธีการเขียนที่แปลกแยกจากงานเขียนทั่วๆ ไปในเวลานั้น นั่นเป็นสาเหตุให้ ออน เดอะ โรด ถูกหมางเมินไม่แยแสจากบรรณาธิการผู้จัดพิมพ์ในเวลานั้น แจ็กต้องร้าวรานจากการถูกปฏิเสธ ประจวบกับความสัมพันธ์ฉันเพื่อนฝูงระหว่างเขากับนีลก็เดินทางมาถึงจุดร้าวฉาน อย่างไรก็ตามแม้ว่า ออน เดอะ โรด ต้องใช้เวลาอีก 7 ปีกว่าจะได้ปรากฏสู่สายตาของผู้อ่านทั่วไป แต่เมื่อนิยายเรื่องนี้ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะก็ประสบความสำเร็จในทันที


    "ออน เดอะ โรด เป็นนวนิยายที่ทำให้ผู้อ่านอยากจะออกไปหยิบฉวยวันเวลาเพื่อใช้ชีวิต...ใช้ชีวิต...ใช้ชีวิต..."

    "จริงหรือไม่ที่พวกบีตดูจะชาญฉลาดและกระจ่างแจ้ง? จริงหรือไม่ที่มนุษย์ทุกผู้นามมีความตายเป็นสิ่งที่หวาดกลัวที่สุดในชีวิต หากว่ามันมาถึงโดยไม่ทันตั้งตัวก่อนที่พวกเขาหรือเธอจะได้ทำอย่างที่อยากทำ?"

    "พวกเขาชาญฉลาดพิที่จะเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะก้มหัวยอมรับคุณค่าของความฝันแบบอเมริกัน...พวกตะกายฝัน หยิบฉวย, เอาคืน, จ้องมอง, ตายจาก เพียงเพื่อได้ฝังร่างลงหลังเมืองแห่งสุสานอันน่ารังเกียจ ลองไอแลนด์"

   - บทวิจารณ์ ออน เดอะ โรด โดย แอนนา แฮสส์พี (Anna Hassapi) -

    "มนุษย์เราก็เหมือนกับหมา ไม่ใช่พระเจ้า - ตราบที่แกไม่บ้าไปเสียก่อน พวกมันจะรุมกัดแก - แต่ถ้าแกบ้าขึ้นมา แกจะไม่ถูกกัดเลย พวกหมามันไม่เคยนับถือความนอบน้อมและความโศกเศร้า"



    แจ็ก เคอรัวแอ็ก จากไปเมื่อ 21 ตุลาคม 1969 นับอายุได้ 47 ปี ตลอดชีวิตการสร้างสรรค์ เขาทิ้งผลงานไว้ถึง 19 ชิ้น งานเขียนอื่นๆ ที่น่าสนใจ มีอาทิเช่น เดอะซับเทอร์แรนเนียนส์ (The Subterraneans), เดอะ ดามา บัมส์ (The Dhama Bums), ดีโซเลชัน เอนเจลส์ (Desolation Angels) เป็นต้น รูปแบบการใช้ชีวิตและการเคลื่อนไหวของแจ็ก เคอรัวแอ็กกับผองเพื่อนกลุ่มบีต เจเนอเรชัน ได้ส่งอิมธิพลต่อวงการวรรณกรรมจวบจนทุกวันนี้






บัญญัติและกลวิธีสำหรับร้อยแก้วสมัยใหม่

: แจ็ก เคอรัวแอ็ก Belief & Technique For Modern Prose : Jack Kerouac

1.  ร่างหยาบๆ ในสมุดบันทึกส่วนตัวหรือไม่ก็พิมพ์ดีดหน้าต่อหน้าอย่างบ้าคลั่งเพื่อความสำเริงสำราญของตัวเอง

2.  น้อมตัวต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เปิดกว้างและรับฟัง

3.  พยายามอย่าเมามายนอกบ้านของตัวเอง

4.  ตกหลุมรักชีวิตของตัวคุณเอง
5.  เรื่องราวที่คุณรู้สึก มันจะหาหนทางก่อตัวขึ้นด้วยตัวของมันเอง
6.  จงเป็นนักบุญบอดใบ้บ้าบอของความคิดและจิตใจ
7.  ปลดปล่อยออกมาให้เต็มตื้นเท่าที่คุณต้องการ
8.  เขียนสิ่งที่คุณต้องการให้สุด สุดความคิดและจิตใจ
9.  ฉายภาพสิ่งที่ไม่อาจเล่าขานสาธยายของความเป็นตัวของตัวเอง
10. ไม่มีเวลาประดิดประดอยบทกวี หากแต่จงเขียนอย่างที่เป็นอยู่จริง
11. จินตนาการสั่นระริกอยู่ในหัวอก
12. จงตกอยู่ในภวังค์และความฝันของเรื่องราวที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า
13. กวาดหลักการ รูปแบบ และไวยากรณ์การเขียนทิ้งไปเสีย!
14. เช่นเดียวกับพรูสต์ จงพวยพุ่งไม่หยุดยั้งดังกาน้ำชาแห่งกาลเวลา (มาร์แชล พรูสต์ Marcel Proust 1871-1922 นักเขียนชาวฝรั่งเศส เจ้าของนิยายดังการแสวงหาวันคืนที่ล่วงลับ A la Recherche du temps perdu เป็นคนแรกๆ ของโลกที่ใช้การเขียนแบบกระแสสำนึก Stream Of Conscious)
15. บอกความจริงของโลกด้วยบทพูดคนเดียวภายใน
16. เพชร ณ ใจกลางแห่งความใส่ใจ คือ ดวงตาที่ปราศจากดวงตา
17. เขียนเพื่อระลึกถึงและพิศวงของตัวเอง
18. สร้างสรรค์จากใจกลางของแก่นสาร แหวกว่ายในทะเลแห่งถ้อยคำ
19. ยอมรับความสูญเสียตราบชั่วนิจนิรันดร์
20. ศรัทธาในโครงร่างอันศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต
21. ดิ้นรนเพื่อบันทึกกระแสความคิดและจิตใจที่ไม่เคยเปลี่ยนแปร
22. อย่ากังวลถึงถ้อยคำ เมื่อคุณหยุดเพื่อจะมองภาพให้ชัดเจนขึ้น
23. ตั้งมั่นไม่เฉไฉในทุกๆ วัน แล้วเป้าหมายจะประดับประดาอยู่ในยามเช้าของคุณ
24. อย่าหวาดกลัวและละอายในศักดิ์ศรีของประสบการณ์ ภาษา และความรอบรู้ของตัวเอง
25. เขียนให้โลกอ่านและเห็นภาพที่แท้จริงของมันด้วยตัวคุณเอง
26. ภาพยนตร์หนังสือ (Bookmovie) คือ หนังที่ฉายด้วยถ้อยคำ ทรรศนะของรูปแบบอเมริกัน
27. สรรเสิรญบุคลิกลักษณะของมนุษย์ในฐานะของความโดดเดี่ยวเดียวดาย
28. ประพันธ์ออกมาจากเบื้องลึกภายในอย่างบริสุทธิ์, ดิบเถื่อน, หลุดกรอบ และบ้าคลั่งกว่าที่เคยเป็นมา
29. คุณคืออัจฉริยะตลอดเวลา
30. นักเขียน - ผู้กำกับภาพยนตร์แห่งพื้นพิภพจะได้รับการอุปถัมภ์และปกปักในสรวงสวรรค์ 

                                                                                [Jack Kerouac Reads At Artist's Studio

American author Jack Kerouac (1922 - 1969) gestures expansively as he reads poetry at the Artist's Studio (48 East 3rd Street), New York, New York, February 15, 1959. (Photo by Fred W. McDarrah/MUUS Collection via Getty Images)]


   

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2565

Allen Ginsberg : ทินกร หุตางกูร

 

Photo by Cyril H. Baker/Pix Inc./The LIFE Images Collection/Getty Images

ส่วนบทความนี้เป็นของ ทินกร หุตางกูร (ซึ่งเป็นนักเขียนและมีผลงานตีพิมพ์หลายชิ้น) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร link และเจ้าของบล็อกนำมาเผยแพร่โดยไม่ได้ขออนุญาต




"เราจะไปหนใด วอลต์ วิทแมน? อีกชั่วโมงเดียวประตูก็จะปิดแล้ว เคราของคุณชี้ที่แห่งไหนค่ำคืนนี้? (ฉันสัมผัสหนังสือของคุณ และฝันถึงการผจญภัยในซูเปอร์มาร์เกตพลางรู้สึกว่าตัวเองไร้สาระ"

    อัลเลน กิบสเบิร์ก เกิดในปี 1926 ที่นีวาร์ก-รัฐนิวเจอร์ซีย์-สหรัฐอเมริกาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เคยทำงานเป็นเด็กล้างจาน เด็กยกกระเป๋า คนตรวจรายการสินค้า รู้จักกับ ปีเตอร์ โอลาฟสกี ที่ซานฟรานซิสโก ปี 1954 ก่อนเป็นคู่รักกัน-อยู่ด้วยกันเหมือนสามีภรรยา ต่อมาแยกทางกัน แต่ทั้งคู่ยังมีความสัมพันธ์ที่ดี จวบกินสเบิร์กตายในเดือนเมษายน ปี 1957

    กินสเบิร์กเป็นนักเขียนกลุ่ม "บีต" (Beat) ซึ่งก่อตั้งช่วงปลายทศวรรษ 50 นักเขียนมีชื่อของกลุ่มนี้ เช่น แจ็ก เคอรัวแอ็ก (ผู้เขียน On the Road) วิลเลียม เบอร์โรวห์ส (ผู้เขียน Naked Lunch) คนทั่วไปมองว่า บีต คือพวกชอบนั่งตามร้านกาแฟมืดๆ ฟังเพลงแจ๊ซ ทว่าในความคิดของผู้เรียกตัวเองว่าบีต พวกเขาเป็นคนแปลกแยกกับสังคม (subterranean) คนนั่งใต้ถุนโลกเงยหน้ามองหาแสงดาวของความเปลี่ยนแปลง (เพราะสิ้นหวังกับสิ่งรอบกาย : ระบบอุตสาหกรรม สงครามเย็น เศรษฐกิจทุนนิยม ฯลฯ) คนสวมรองเท้าที่มีเลือดท่วมเดินเตร่ตลอดคืนแถวท่าเรือซ่งหิมะปกคลุม รอประตูในเขตอีสต์ริเวอร์เปิดให้เข้าไปในห้องที่อวลด้วยไอร้อนกับฝิ่น เหมือนตอนหนึ่งใน Howl บทกวีขนาดยาวของอัลเลน กินสเบิร์ก : who walked all night with shoes full of blood on the snowbank docks waiting for a door of East River to open to a room full with heat stream and opium.

    กินสเบิร์กสนใจการแสวงหาด้านจิตวิญญาณ เคยทดลองสารเสพติดอย่างกัญชากับเบนเซดรีน (คนยุคนั้นเชื่อว่า ยาเสพติดเป็นเครื่องบินที่สามารถพาบินไปสู่การหลุดพ้น) เขายอมรับว่าบทกวีหลายบทเขียนขณะเสพยา

    งานของกินสเบิร์กมักถูกตีความว่ารุนแรง หมิ่นเหม่ศีลธรรม และอนาจาร (ทั้งเนื้อหา - การใช้คำ อาทิประโยคหนึ่งในบทกวี America : Go fuck yourself with your atom bomb) เขาเคยไปอ่านบทกวี Howl ที่ร้านหนังสือ ซิตี ไลต์ บุ๊กส์ ทำให้เจ้าของร้านถูกตำรวจจับข้อหาอนุญาตให้มีการแสดงอนาจาร

    แต่ภายหลัง กินสเบิร์กได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะคนเขียนกวีกระแสสำนึก (stream of consciousness) ซึ่งสะท้อนความรู้สึกคนยุคหนึ่งได้อย่างลุ่มลึก

    เมื่อเขาตาย ร้านหนังสือ ซิตี ไลต์ บุ๊กส์ จัดงานรำลึก มีการเปิดเทปเสียงอ่านบทกวีของเขาบนเวที
    บทกวีของกินสเบิร์กมีจังหวะคล้ายเพลง เวลาอ่านจะไม่หยุดหายใจจนกว่าจบประโยค

No rest                          ไม่มีการพักผ่อน
without love                  ที่ปราศจากรัก
no sleep                         ไม่มีการหลับ
without dreams              ที่ไม่มีฝัน
of love                            ถึงความรัก
be mad or chills              บ้าหรือหนาว
obsessed with angels      ถูกครอบงำโดยนางฟ้า
or machines                    หรือเครื่องจักร
the final wish                 ปรารถนาสุดท้าย
is love                            คือรัก

----------------------------------------------------------------------
                                       (ตอนหนึ่งจากบทกวี Song)


วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565

William S. Burroughs : วิภาส ศรีทอง

 

(ภาพจาก https://www.fanpop.com/clubs/william-s-burroughs/images/24346816/title/william-s-burroughs-photo

ส่วนบทความคัดลอกมาจากวารสาร link ซึ่งเป็นแผ่นพับและเจ้าของบทความคือ วิภาส ศรีทอง ซึ่งข้าพเจ้าที่เป็นเจ้าของบล็อกเอามาเผยแพร่โดยไม่ได้ขออนุญาต)


"นี่แน่ะ...คุณไม่จำเป็นต้องตายกับไอ้โลกบ้าๆ นี่หรอก คุณหายใจมันเข้าไปสิ กินมันเข้าไปสิ เสพมันเข้าไปสิ แล้วก็ยืนหยัดรับวันต่อไปเหมือนอย่างผม"

     ยากที่จะแยกตัวตนของ WSB ออกจากผลงานของเขา คงเหมือนๆ กับสิ่งที่ เฮมมิงเวย์ พยายามจะเป็นเมื่อสร้างตัวละครชื่อ เจกบานส์ ใน The Sun Also Rise แล้วขังตัวเองอยู่ในนั้นตลอดกาล แต่ WSB กลับไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ งานของเขา คือกระจกสะท้อนตัวเขาเอง แต่มันเป็นกระจกที่บิดเบี้ยวเสียจนชวนคลื่นเหียน แม้กระนั้นไม่อาจกล่าวได้ว่าอเมริกันวันนี้ยอมรับนับถือเขา WSB เป็นนักเขียนอัจฉริยะหรือเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรมนุษย์ของอเมริกา นักวิชาการหรือนักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยอาจมีท่าทีลังเลใจขึ้นมา เพราะไม่ได้อ่านจริงๆ จังๆ "อ้อใช่ นายเบอร์โรวห์ส" 

    โลกของ WSB หลากล้นด้วยเซ็กซ์ ยาเสพติด อาชญากรรมแผลงๆ ความบ้าคลั่ง การเมืองสกปรก หรือไม่ก็ความลุ่มหลง อย่างใดอย่างหนึ่ง เงิน รักร่วมเพศ ช่องทวารหนัก รวมไปถึงอำนาจ ความแปรปรวนทางอารมณ์ สภาพของสติสัมปชัญญะอันไร้ที่พึ่ง จักรกลและกายวิภาค ด้วยภาษาเกือๆ จะหยาบคายแต่ตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์ ภายใต้รูปแบบของงานคอลลาจ WSB มาจากครอบครัวที่มั่งคั้ง เรียนแพทย์แต่จบปริญญาตรีในคณะมานุษยวิทยาที่ฮาร์วาร์ด (เหมือนกับ J.G.Ballard ผู้ที่ได้รับอิทธิพลจาก WSB) เขาเป็นหนอนหนังสือแต่หมกมุ่นกับปืน เซ็กซ์ และโลกของอาชญากรรม เขามีแนวโน้มตั้งแต่วัยเด็กที่จะแหกกฎทุกกฎเท่าที่ทำได้ และคงเป็นเรื่องยากที่จะหาที่ว่างสำหรับเขาในสังคมปกติของชนชั้นกลาง หลังจบมหาวิทยาลัย เขาก็ออกไปทดลองชีวิตทุกรูปแบบเหมือนปีศาจที่กระหายลมหายใจ เขาตรงไปนิวยอร์ก เข้าร่วมแก๊งอาชญากรรมใต้ดิน แล้วก็ติดเฮโรอีนอย่างหนัก ท่ามกลางบรรยากาศของศิลปะที่เหมือนภูเขาไฟใกล้ระเบิดโดยมีแรงขบเคลื่อนจากเซ็กซ์ เสรีภาพใหม่ และสภาพไร้สติจากยาเสพติด WSB เข้าร่วมกับกลุ่มบีตและพบกับ Joan V. Adam ภรรยาขี้ยาในอนาคต เขาแก่ที่สุดในกลุ่มบีต แต่ก็น่าประทับใจด้วยบุคลิกแปลกๆ อารมณ์ขันห่ามๆ อันเฉียบแหลมที่ชวนให้รู้สึกถูกคุกคามเหมือนเสียงรถบดถนน "เขาสูงหกฟุตหนึ่ง ดูเผินๆ เหมือนคนที่เราคาดเดาความคิดได้ไม่ยาก เหมือนเสมียนสำนักงานขี้อาย แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครเข้าถึงเขาได้เลย" แจ็ก เคอรัวแอ็กเคยว่าเอาไว้

    ช่วงเวลานั้นเขาได้รับอิทธิพลจาก Brian Gysin จิตรกรเซอร์เรียลลิสต์กลุ่มแรก เขานำเทคนิคมาดัดแปลงใส่ในงาน รวมถึงงานทดลองเขียนแบบ Cut-Up (การนำคำต่างๆ มาผสมอย่างสุ่มๆ ตัวอย่างอันหนึ่งที่ดูจะใช้เทคนิคใกล้เคียงกันคือ งานที่ใช้ชื่อว่าจินตนาการสามบรรทัดของสุชาติ สวัสดิ์ศรี) โดยมีแนวคิดที่จะเสาะค้นความจริงที่ (อาจจะ) ซุกเร้นอยู่ ณ อีกด้านหนึ่งภายใต้เปลือกนอกของภาษา เทคนิคนี้ส่งแรงกระทบมาถึงงานกลุ่ม CyberPunk, Hypertext และ AvantPop ในปัจจุบัน
    แกนนำแต่ละคนในกลุ่มบีตกำลังเขียนงานอย่างจริงจัง แต่ WSB ซึ่งเลยวัยสามสิบห้าไปแล้ว ยังไม่ได้เขียนอะไรดีๆ ออกมาเลยนอกจากนวนิยายสิบสตางค์เล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Junky ก่อนจะหลบไปทำสวนส้มและเสพยาไปวันๆ ที่เทกซัสกับภรรยาและสหายกลุ่มบีตอีกสองสามคน ไม่นานก็ถูกตำรวจยาเสพติดเฝ้ารังควานจนต้องย้ายไปเม็กซิโก ที่นั่นในงานปาร์ตี้ WSB บอกกับเพื่อนๆ ว่าได้เวลาแล้วสำหรับ William Tell Act ภรรยาของเขาซึ่งเมาเพียบพอกันวางแก้วเปล่าบนหัว WSB เล็งไปที่แก้วแต่พลาด Joan เสียชีวิตทันที
    WSB หลบไปอยู่แถวอเมริกาพักหนึ่ง เดินทางไปเรื่อยๆ เหมือนนักช้อปปิ้งทางอารมณ์ที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย ท้ายที่สุดเขาไปโผล่ที่แทนเจียร์ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกาเหนือ ที่ซึ่งเปรียบเสมือนหลุมหลบภัยทางจิตวิญญาณของศิลปินและนักเขียนสมัยนั้น WSB เขียน Naked Lunch งานที่ดีที่สุดของเขาที่นั่น โดยความช่วยเหลือของ อัลเลน กินสเบิร์ก และ แจ็ก เคอรัวแอ็ก ก่อนที่จะถูกตีพิมพ์ครั้งแรกที่ปารีสปี 1959 และถูกแบนด้วยข้อหาว่าหยาบโลนจากหลายต่อหลายรัฐในอเมริกาในช่วงทศวรรษ 60 แต่ในที่สุด WSB ก็ชนะข้อกล่าวหาทั้งหมด เป็นการสิ้นสุดยุคแห่งการเซ็นเซอร์หนังสือในอเมริกันจวบจนปัจจุบัน
    Naked Lunch สร้างชื่อให้กับ WSB จากกลุ่มใต้ดินเล็กๆ ขจรขจายไปทั่วโดยเฉพาะยุโรป WSB ย้ายไปอยู่ลอนดอน และย้ายกลับมานิวยอร์กอีกครั้ง ก่อนจะใช้ชีวิตบั้นปลายกับงานด้านทัศนศิลป์ที่แคนซัสปี 1981
    นอกจากตัวงานของ WSB แล้ว ภาพลักษณ์ของเขายังส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมป๊อป เช่นแวดวงดนตรีหลายต่อหลายวงตั้งชื่อตามหนังสือและชื่อตัวละครของเขา เคริต โคเบน นักร้องนักดนตรีชื่อดังจากวงเนอร์วานา เล่นกีตาร์ประกอบการอ่านบทกวีจากเสียงของเขา มีหนังสร้างจากหนังสือและอัตชีวประวัติของตัวเขา นอกจากนั้นสไตล์การเขียนของเขายังส่งอิทธิพลต่อกลุ่ม Post Post-Modern
    โลกของ WSB ใน Naked Lunch แจ็ก เคอรัวแอ็ก เป็นผู้ตั้งชื่อให้กับหนังสือเล่มนี้ (Naked Lunch หมายถึงเผยความจริงแท้) หลังจากได้อ่านต้นฉบับที่กระจัดกระจายในห้องพักราคาถูกในแทนเจียร์ เนื้อหาที่อาจสรุปหยาบๆ กล่าวถึงความทรงจำขาดตอน ไม่ปะติดปะต่อ และภาวะหลอนของคนเสี้ยนยา มันไม่ใช่การเดินทางทางกายภาพ แม้จะมีการเปลี่ยนฉากที่หลากหลายจากนิวยอร์ก สู่สวีเดน, ชิคาโก, เม็กซิโก, เวนิส และแทนเจียร์ หากเป็นการเคลื่อนเลื่อนไหลของกระแสสำนึกและไร้สำนึก

     WSB ได้สร้างโลกจำลองขึ้นโดยให้ชื่อว่าอินเตอร์โซน มีลักษณะคล้ายรวงผึ้งขนาดมหึมา ไม่ว่าใครจะเป็นผู้คน รัฐบาล เมืองต่างๆ ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมบริโภคอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งเซ็กซ์ ยาเสพติด ความลุ่มหลงในโครงสร้างที่ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จจากรัฐบาล แต่ละพรรคการเมืองในอินเตอร์โซนมุ่งจะครองโลกโดยใช้กำลัง และควบคุมความคิดของพลเมืองด้วย ยาเสพติดและความลุ่มหลง ใครก็ตามที่ตกอยู่ในสภาพผู้เสพไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด เซ็กซ์ หรืออำนาจ ความเป็นมนุษย์ของผู้นั้นจะค่อยๆ ถดถอยลง กลับกลายเป็นสุนัขล่าเนื้อ สัตว์ประหลาดกินคน ตะขาบตัวเขื่อง แมลงประหลาดๆ ลิงชิมแปนซี ตัวละครบางตัวเมื่อร่วมเพศ บรรลุจุดสุดยอดจะกลายเป็นปูยักษ์ บางตัวเป็นมนุษย์ที่มีช่องทวารพูดได้และค่อยๆ ควบคุมร่างกายแทนสมองที่ฝ่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่มีตัวละครบางตัวเมื่อถูกแขวนคอจะหลั่งน้ำกามออกมา นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์แปลกๆ เหนือจริงอีกมากมาย (อาจทำให้นึกถึงคาฟคาหากไม่มีนัยให้ตีความ หรือมีลักษณะเหนือจริงที่ลื่นไหลบ่งบอกถึงสภาพสิ้นหวังไร้ทางออกอย่างเช่นมาร์เควช) ผ่านทางตัวละครเอกชื่อ William Lee ผู้ที่กำลังพยายามเลิกยาและเขียนหนังสือที่ชื่อ Naked Lunch เช่นกัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำลายสิ่งชั่วร้ายในอินเตอร์โซน โดยการเขียนถึงมัน โครงเรื่องเป็นแบบง่ายๆ ความดีต่อสู้กับความชั่วเหมือนการ์ตูนฮีโร่ดาดๆ หากแต่ WSB ใช้ภาษาของสื่อหลากหลายสไตล์ เช่น งานโฆษณา นิยายกระจอก รายการทีวีน้ำเน่า หนังสือการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ เข้่ามาผสมผสานกันโดยใช้เทคนิคที่หยิบยืมจากงานทัศนศิลป์ รวมถึงดนตรีแจ๊ซ มาตัดปะเป็นงานแบบคอลลาจด้วยการเขียนแบบกระแสสำนึก ผู้อ่านสามารถเริ่มต้นอ่านบทไหนก่อนก็ได้ (WSB ลำดับบทอย่างสุ่มๆ ด้วยการเลือกหยิบต้นฉบับที่วางอยู่เกลื่อนกับพื้นห้องพัก) เหมือนหนังที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจะออกจากโรงแล้วกลับเข้าไปดูใหม่ก็ได้ผลแทบจะไม่ต่างจากเดิม

    Naked Lunch เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์เป็นงานทดลองทางรูปแบบ เป็นงานล้อเลียนไม่ใช่เสียดเย้ย แม้จะมีฉากชวนคลื่นเหียนสะอิดสะเอียนมากมายเหมือนจงใจจะช็อกคนอ่าน ไม่ต่างจากหนังสยองขวัญเกรดบี แม้จะมีบางฉากที่ออกจะจำเจ หากแต่อารมณ์ขันอันแหลมคมทำให้พอจะประคับประคองไปได้ บางครั้งที่ผู้อ่านกำลังตกอยู่ในภวังค์ต่อเนื่องจากเรื่องราว แต่แล้วก็ต้องสะดุ้งไม่ใช่เพราะไปพบกับปรัชญาชีวิตอะไรเข้า หากเป็นเพราะฉากบางฉากทำให้รู้สึกราวกับถูกตีหัวหรือชวนให้อาเจียน WSB ไม่ได้เขียนเพื่อให้เราซาบซึ้ง แต่เขียนเพื่อให้เราเข้าใกล้ประสบการณ์มากที่สุดด้วยอาการกระสับกระส่ายจนดูราวกับขาดจุดมุ่งหมาย แม้เขาจะเขียนเรื่องเหนือจริงจนคล้ายกับพยายามหลีกหนีความจริง ทว่าเขาก็เป็นศิลปินที่เชื่อมโยงความภักดีเข้ากับโลก และซื่อสัตย์ต่อความจริงแท้ที่ซ่อนอยู่ใต้เปลือกนอกแม้มันจะดูไม่งามเท่าใดนักก็ตาม แต่เขาก็วิ่งฝ่ากำแพงบางอย่างออกไปได้ ขณะที่โลกส่วนใหญ่ในอเมริกาทุกวันนี้ (แม้แต่ในบ้านเรา) วนเวียนอยู่กับสภาพโหยหาอดีต (วรรณกรรมเพื่อชีวิต) หรือไม่ก็เป็นวรรณกรรมชานเมือง (วรรณกรรมมารยาทสังคมก็เรียก) วรรณกรรมฟูมฟายของชนชั้นกลางที่คร่ำเคร่งอยู่กับการหาตัวตนที่กำลังจมหายลงไปทุกที WSB ได้ฝ่าออกไป ชีวิตในปลายศตวรรษที่ 20 เข้าข้างเขา เขาไม่ได้ต่อสู้แต่โดยลำพังหากยังได้โลดเต้นอย่างสนุกสนาน ดังที่เขามักจะกล่าวเสมอว่า นี่แน่ะ...คุณไม่จำเป็นต้องตายกับไอ้โลกบ้าๆ นี่หรอก หายใจมันเข้าไปสิ กินมันเข้าไปสิ เสพมันเข้าไปสิ แล้วก็ยืนหยัดรับวันต่อไปเหมือนอย่างผม