(ภาพจาก https://www.fanpop.com/clubs/william-s-burroughs/images/24346816/title/william-s-burroughs-photo
ส่วนบทความคัดลอกมาจากวารสาร link ซึ่งเป็นแผ่นพับและเจ้าของบทความคือ วิภาส ศรีทอง ซึ่งข้าพเจ้าที่เป็นเจ้าของบล็อกเอามาเผยแพร่โดยไม่ได้ขออนุญาต)
"นี่แน่ะ...คุณไม่จำเป็นต้องตายกับไอ้โลกบ้าๆ นี่หรอก คุณหายใจมันเข้าไปสิ กินมันเข้าไปสิ เสพมันเข้าไปสิ แล้วก็ยืนหยัดรับวันต่อไปเหมือนอย่างผม"
ยากที่จะแยกตัวตนของ WSB ออกจากผลงานของเขา คงเหมือนๆ กับสิ่งที่ เฮมมิงเวย์ พยายามจะเป็นเมื่อสร้างตัวละครชื่อ เจกบานส์ ใน The Sun Also Rise แล้วขังตัวเองอยู่ในนั้นตลอดกาล แต่ WSB กลับไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ งานของเขา คือกระจกสะท้อนตัวเขาเอง แต่มันเป็นกระจกที่บิดเบี้ยวเสียจนชวนคลื่นเหียน แม้กระนั้นไม่อาจกล่าวได้ว่าอเมริกันวันนี้ยอมรับนับถือเขา WSB เป็นนักเขียนอัจฉริยะหรือเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรมนุษย์ของอเมริกา นักวิชาการหรือนักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยอาจมีท่าทีลังเลใจขึ้นมา เพราะไม่ได้อ่านจริงๆ จังๆ "อ้อใช่ นายเบอร์โรวห์ส"
โลกของ WSB หลากล้นด้วยเซ็กซ์ ยาเสพติด อาชญากรรมแผลงๆ ความบ้าคลั่ง การเมืองสกปรก หรือไม่ก็ความลุ่มหลง อย่างใดอย่างหนึ่ง เงิน รักร่วมเพศ ช่องทวารหนัก รวมไปถึงอำนาจ ความแปรปรวนทางอารมณ์ สภาพของสติสัมปชัญญะอันไร้ที่พึ่ง จักรกลและกายวิภาค ด้วยภาษาเกือๆ จะหยาบคายแต่ตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์ ภายใต้รูปแบบของงานคอลลาจ WSB มาจากครอบครัวที่มั่งคั้ง เรียนแพทย์แต่จบปริญญาตรีในคณะมานุษยวิทยาที่ฮาร์วาร์ด (เหมือนกับ J.G.Ballard ผู้ที่ได้รับอิทธิพลจาก WSB) เขาเป็นหนอนหนังสือแต่หมกมุ่นกับปืน เซ็กซ์ และโลกของอาชญากรรม เขามีแนวโน้มตั้งแต่วัยเด็กที่จะแหกกฎทุกกฎเท่าที่ทำได้ และคงเป็นเรื่องยากที่จะหาที่ว่างสำหรับเขาในสังคมปกติของชนชั้นกลาง หลังจบมหาวิทยาลัย เขาก็ออกไปทดลองชีวิตทุกรูปแบบเหมือนปีศาจที่กระหายลมหายใจ เขาตรงไปนิวยอร์ก เข้าร่วมแก๊งอาชญากรรมใต้ดิน แล้วก็ติดเฮโรอีนอย่างหนัก ท่ามกลางบรรยากาศของศิลปะที่เหมือนภูเขาไฟใกล้ระเบิดโดยมีแรงขบเคลื่อนจากเซ็กซ์ เสรีภาพใหม่ และสภาพไร้สติจากยาเสพติด WSB เข้าร่วมกับกลุ่มบีตและพบกับ Joan V. Adam ภรรยาขี้ยาในอนาคต เขาแก่ที่สุดในกลุ่มบีต แต่ก็น่าประทับใจด้วยบุคลิกแปลกๆ อารมณ์ขันห่ามๆ อันเฉียบแหลมที่ชวนให้รู้สึกถูกคุกคามเหมือนเสียงรถบดถนน "เขาสูงหกฟุตหนึ่ง ดูเผินๆ เหมือนคนที่เราคาดเดาความคิดได้ไม่ยาก เหมือนเสมียนสำนักงานขี้อาย แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครเข้าถึงเขาได้เลย" แจ็ก เคอรัวแอ็กเคยว่าเอาไว้
ช่วงเวลานั้นเขาได้รับอิทธิพลจาก Brian Gysin จิตรกรเซอร์เรียลลิสต์กลุ่มแรก เขานำเทคนิคมาดัดแปลงใส่ในงาน รวมถึงงานทดลองเขียนแบบ Cut-Up (การนำคำต่างๆ มาผสมอย่างสุ่มๆ ตัวอย่างอันหนึ่งที่ดูจะใช้เทคนิคใกล้เคียงกันคือ งานที่ใช้ชื่อว่าจินตนาการสามบรรทัดของสุชาติ สวัสดิ์ศรี) โดยมีแนวคิดที่จะเสาะค้นความจริงที่ (อาจจะ) ซุกเร้นอยู่ ณ อีกด้านหนึ่งภายใต้เปลือกนอกของภาษา เทคนิคนี้ส่งแรงกระทบมาถึงงานกลุ่ม CyberPunk, Hypertext และ AvantPop ในปัจจุบันWSB ได้สร้างโลกจำลองขึ้นโดยให้ชื่อว่าอินเตอร์โซน มีลักษณะคล้ายรวงผึ้งขนาดมหึมา ไม่ว่าใครจะเป็นผู้คน รัฐบาล เมืองต่างๆ ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมบริโภคอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งเซ็กซ์ ยาเสพติด ความลุ่มหลงในโครงสร้างที่ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จจากรัฐบาล แต่ละพรรคการเมืองในอินเตอร์โซนมุ่งจะครองโลกโดยใช้กำลัง และควบคุมความคิดของพลเมืองด้วย ยาเสพติดและความลุ่มหลง ใครก็ตามที่ตกอยู่ในสภาพผู้เสพไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด เซ็กซ์ หรืออำนาจ ความเป็นมนุษย์ของผู้นั้นจะค่อยๆ ถดถอยลง กลับกลายเป็นสุนัขล่าเนื้อ สัตว์ประหลาดกินคน ตะขาบตัวเขื่อง แมลงประหลาดๆ ลิงชิมแปนซี ตัวละครบางตัวเมื่อร่วมเพศ บรรลุจุดสุดยอดจะกลายเป็นปูยักษ์ บางตัวเป็นมนุษย์ที่มีช่องทวารพูดได้และค่อยๆ ควบคุมร่างกายแทนสมองที่ฝ่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่มีตัวละครบางตัวเมื่อถูกแขวนคอจะหลั่งน้ำกามออกมา นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์แปลกๆ เหนือจริงอีกมากมาย (อาจทำให้นึกถึงคาฟคาหากไม่มีนัยให้ตีความ หรือมีลักษณะเหนือจริงที่ลื่นไหลบ่งบอกถึงสภาพสิ้นหวังไร้ทางออกอย่างเช่นมาร์เควช) ผ่านทางตัวละครเอกชื่อ William Lee ผู้ที่กำลังพยายามเลิกยาและเขียนหนังสือที่ชื่อ Naked Lunch เช่นกัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำลายสิ่งชั่วร้ายในอินเตอร์โซน โดยการเขียนถึงมัน โครงเรื่องเป็นแบบง่ายๆ ความดีต่อสู้กับความชั่วเหมือนการ์ตูนฮีโร่ดาดๆ หากแต่ WSB ใช้ภาษาของสื่อหลากหลายสไตล์ เช่น งานโฆษณา นิยายกระจอก รายการทีวีน้ำเน่า หนังสือการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ เข้่ามาผสมผสานกันโดยใช้เทคนิคที่หยิบยืมจากงานทัศนศิลป์ รวมถึงดนตรีแจ๊ซ มาตัดปะเป็นงานแบบคอลลาจด้วยการเขียนแบบกระแสสำนึก ผู้อ่านสามารถเริ่มต้นอ่านบทไหนก่อนก็ได้ (WSB ลำดับบทอย่างสุ่มๆ ด้วยการเลือกหยิบต้นฉบับที่วางอยู่เกลื่อนกับพื้นห้องพัก) เหมือนหนังที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจะออกจากโรงแล้วกลับเข้าไปดูใหม่ก็ได้ผลแทบจะไม่ต่างจากเดิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น