ภาพจาก
https://www.famousauthors.org/jack-kerouac
ชื่อภาพ A symbol whose meaning is not uniformly understood … Jack Kerouac. Photograph: John Cohen/Getty Images
บทความชิ้นนี้เป็นของ จิตติ พัวสุทธิ และเจ้าของบล็อกนำมาเผยแพร่โดยไม่ได้ขออนุญาต
"ทุกสิ่งเป็นของฉัน เพราะฉันจน"
"ขีวิตคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทุกชั่วขณะคือความประทับใจ"
12 มีนาคม 1922 ทารกน้อยคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นบนพื้นพิภพในนามของ จีน-หลุยส์ เคอรัวแอ็ก หากแต่ในเวลาต่อมาโลกขานรับเขาในนาม แจ็ก เคอรัวแอ็ก ผู้นำและโฆษกของเดอะบีต เจเนอเรชัน เจ้าของนวนิยายที่พลิกโฉมหน้าความฝันแบบอเมริกัน- ออน เดอะ โรด (On the Road)
เช่นเดียวกับชนชั้นแรงงานชาวแคนาดา-ฝรั่งเศสในโลเวลล์ แมสซาชูเซตต์ส่วนใหญ่ ลูกชายคนสุดท้องของครอบครัวเคอรัวแอ็กใช้ภาษาฝร่ังเศสพื้นถิ่นได้คล่องปาก ก่อนที่เขาจะเจนจัดกับภาษาอังกฤษในฐานะเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์ เพื่อความมั่นคงของครอบครัวและต้องการลดภาระทางบ้าน แจ็กหวังจะสอบชิงทุนด้านการกีฬาเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและบ่ายหน้าต่อไปสู่ธุรกิจประกัน
ในฐานะดาวเด่นทีมอเมริกันฟุตบอล ประกอบกับชัยชนะและถ้วยรางวัลที่ได้มาตลอดเวลาร่ำเรียนในไฮสกูล จงไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะได้รับเลือกให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก อนาคตสดใส ความฝันแบบอเมริกันดูเหมือนจะไม่ไกลเกินกว่าเขาจะไขว่คว้า
"คุณไม่อาจเกิดโดยปราศจากการมีอยู่ และคุณไม่อาจตายโดยปราศจากการเกิด"
แต่แล้วราวกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกจัดวางไว้ แจ็กมีปากเสียงกับโค้ชผู้ฝึกสอน เขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมทีมอเมริกันของมหาวิทยาลัย ในเวลาเดียวกันนั้นเองครอบครัวของเขาประสบกับปัญหาล้มละลาย พ่อของเขากลายเป็นคนติดเหล้า ความสัมพันธ์ทางสายเลือดเริ่มจะร้าวฉานและภายในเวลาไม่นานนักก็เข้าสู่ภาวะวิกฤติ แจ็กตัดสินใจดร็อปการเรียน หวังจะเนรเทศตัวเองสู่ท้องเทะเลกว้างกับกองทัพเรือ (เวลานั้นสงครามโลกเพิ่มจะเริ่มต้น) หากแต่เขากลับสมหวังกับอาชีพพาณิชย์นาวีแทน เมื่อว่างเว้นจากงานในอาชีพ เขามักจะเตร็ดเตร่ไปทั่วนิวยอร์กกับบรรดาผองเพื่อนผู้ซึ่งพ่อแม่ไม่ให้การต้อนรับ อาทิ นักศึกษานอกคอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg), ลูเซียน คาร์ (Lucien Carr), และเพื่อนผู้สูงวัยจากย่านดาวน์ทาวน์ผู้มีบุคลิกแปลกแยกแตกต่าง วิลเลียม เอส. เบอร์โรวห์ส (William S. Burroughs) ตลอดจนคาวบอยหนุ่มจากเดนเวอร์ผู้ร่าเริง นีล แคสซาดี (Neal Cassady)
"ฉันแต่งงานกับนิยายของฉัน แล้วก็มีเรื่องสั้นเป็นลูกๆ "
เดอะทาวน์ แอนด์เดอะซิตี (The Town amd The City) นวนิยายเรื่องแรกจากการสร้างสรรค์ของแจ็ก เคอรัวแอ็ก ได้รับแรงบันดาลใจจากนักเขียนระดับตำนานก่อนหน้าเขา โทมัส วูล์ฟ (Thomas Wolf) เนื้อหาบรรยายถึงความรวดร้าวที่เขาต้องเผชิญ เมื่อเขาพยายามรักษาสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตเถื่อนในเมืองใหญ่กับคุณค่าชีวิตแบบดั้งเดิมของครอบครัว เป็นเพราะบรรดาเพื่อนแล้วแต่ยอมรับในความสามารถทางด้านการเขียนที่เหนือกว่าของเขา ตลอดจนตกหลุมรักในตัวงานอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จึงพากันผลักดันให้คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียจัดพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม
เดอะทาวน์ แอนด์เดอะซิตีอาจจะทำให้แจ็ก เคอรัวแอ็กได้รับการยอมรับในฐานะนักเขียน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายรวมถึงชื่อเสียงความโด่งดังแต่อย่างใดเลย
"ประจักษ์พยานของฉันมีก็แต่ท้องฟ้าอันว่างเปล่า"
"กระเป๋าเดินทางของเราอัดแน่นวางอยู่บนบาทวิถีอีกครั้ง หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกลนัก แต่จะไปยี่หระทำไมกัน ท้องถนนนั่นแหละชีวิต"
เพราะต้องการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงจากผืนแผ่นดินกว้างทั่วถิ่นอเมริกัน แจ็กตัดสินใจควงคู่ นีล แคสซาดี ออกเดินทางข้ามประเทศพร้อมกับเริ่มงานเขียนชิ้นใหม่ไปในเวลาเดียวกัน เขาเริ่มต้นทดลอง วิธีแนวคิดแบบฉับพลัน (Spontaneous Prose) โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีการเขียนจดหมายของ นีล แคสซาดี
เนื้อหาของนวนิยายเรื่องดังกล่าวบรรยายถึงเรื่องราวที่ได้พบได้เห็นมาในระหว่างการเดินทาง โดยไม่มีการตัดทอน แก้ไข ไหลหลั่งออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการพิมพ์ดีดต่อเนื่องลงม้วนกระดาษที่ไม่มีการตัดแบ่ง จนเกิดเป็นผลงานม้วนใหญ่ชิ้นสำคัญ ออน เดอะ โรด ผลงานชิ้นนี้นับได้ว่าเป็นการบุกเบิกวิธีการเขียนที่แปลกแยกจากงานเขียนทั่วๆ ไปในเวลานั้น นั่นเป็นสาเหตุให้ ออน เดอะ โรด ถูกหมางเมินไม่แยแสจากบรรณาธิการผู้จัดพิมพ์ในเวลานั้น แจ็กต้องร้าวรานจากการถูกปฏิเสธ ประจวบกับความสัมพันธ์ฉันเพื่อนฝูงระหว่างเขากับนีลก็เดินทางมาถึงจุดร้าวฉาน อย่างไรก็ตามแม้ว่า ออน เดอะ โรด ต้องใช้เวลาอีก 7 ปีกว่าจะได้ปรากฏสู่สายตาของผู้อ่านทั่วไป แต่เมื่อนิยายเรื่องนี้ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะก็ประสบความสำเร็จในทันที
"จริงหรือไม่ที่พวกบีตดูจะชาญฉลาดและกระจ่างแจ้ง? จริงหรือไม่ที่มนุษย์ทุกผู้นามมีความตายเป็นสิ่งที่หวาดกลัวที่สุดในชีวิต หากว่ามันมาถึงโดยไม่ทันตั้งตัวก่อนที่พวกเขาหรือเธอจะได้ทำอย่างที่อยากทำ?"
"พวกเขาชาญฉลาดพิที่จะเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะก้มหัวยอมรับคุณค่าของความฝันแบบอเมริกัน...พวกตะกายฝัน หยิบฉวย, เอาคืน, จ้องมอง, ตายจาก เพียงเพื่อได้ฝังร่างลงหลังเมืองแห่งสุสานอันน่ารังเกียจ ลองไอแลนด์"
- บทวิจารณ์ ออน เดอะ โรด โดย แอนนา แฮสส์พี (Anna Hassapi) -
"มนุษย์เราก็เหมือนกับหมา ไม่ใช่พระเจ้า - ตราบที่แกไม่บ้าไปเสียก่อน พวกมันจะรุมกัดแก - แต่ถ้าแกบ้าขึ้นมา แกจะไม่ถูกกัดเลย พวกหมามันไม่เคยนับถือความนอบน้อมและความโศกเศร้า"
แจ็ก เคอรัวแอ็ก จากไปเมื่อ 21 ตุลาคม 1969 นับอายุได้ 47 ปี ตลอดชีวิตการสร้างสรรค์ เขาทิ้งผลงานไว้ถึง 19 ชิ้น งานเขียนอื่นๆ ที่น่าสนใจ มีอาทิเช่น เดอะซับเทอร์แรนเนียนส์ (The Subterraneans), เดอะ ดามา บัมส์ (The Dhama Bums), ดีโซเลชัน เอนเจลส์ (Desolation Angels) เป็นต้น รูปแบบการใช้ชีวิตและการเคลื่อนไหวของแจ็ก เคอรัวแอ็กกับผองเพื่อนกลุ่มบีต เจเนอเรชัน ได้ส่งอิมธิพลต่อวงการวรรณกรรมจวบจนทุกวันนี้
บัญญัติและกลวิธีสำหรับร้อยแก้วสมัยใหม่
: แจ็ก เคอรัวแอ็ก Belief & Technique For Modern Prose : Jack Kerouac
1. ร่างหยาบๆ ในสมุดบันทึกส่วนตัวหรือไม่ก็พิมพ์ดีดหน้าต่อหน้าอย่างบ้าคลั่งเพื่อความสำเริงสำราญของตัวเอง
2. น้อมตัวต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เปิดกว้างและรับฟัง
3. พยายามอย่าเมามายนอกบ้านของตัวเอง
[Jack Kerouac Reads At Artist's Studio
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น